การอัพเดทสถานะ Married พร้อมกับอัพโหลดภาพที่ยืนเคียงคู่เจ้าสาวของมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก บนเฟซบุ๊กของตัวเองเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้สร้างความฮือฮาและอิจฉาตาร้อนให้กับชาวโซเชียลเน็ทเวิร์คและสื่อทั่วโลกไปไม่น้อย งานแต่งของทั้งคู่มีขึ้นหลังจากเฟซบุ๊กนำหุ้น IPO เข้าเทรดในตลาดหุ้นสหรัฐเพียงวันเดียว แต่ผู้คนจำนวนมากต้องพากันประหลาดใจที่การซื้อขายหุ้นเฟซบุ๊กวันแรกไม่แรงอย่างที่คิด ผิดกับตอนเปิดตัว ซึ่งสามารถสร้างกระแสเกรียวกราวไปทั่วโลก
เฟซบุ๊ก ยักษ์ใหญ่เครือข่ายสังคมออนไลน์ ได้ยื่นข้อมูลการเสนอขายหุ้นสามัญแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ต่อ SEC เมื่อวันพุธที่ 1 ก.พ. โดยตั้งเป้าระดมทุนให้ได้ 5 พันล้านดอลลาร์ เฟซบุ๊กตั้งใจที่จะยื่นแบบแสดงรายการเสนอขายหุ้น IPO ให้ตรงกับวันครบรอบ 8 ปีของบริษัท ข้อมูลจากแบบแสดงรายการที่เฟซบุ๊กยื่นต่อ SEC ระบุว่า ปัจจุบันเฟซบุ๊กมีจำนวนผู้ใช้งานทั้งสิ้น 845 ล้านคน และมีจำนวนผู้ใช้งานประจำวัน 483 ล้านคน ส่วนรายได้ต่อปีของบริษัทอยู่ที่ 3.7 พันล้านดอลลาร์, รายได้จากการดำเนินงาน 1.8 พันล้านดอลลาร์ และรายได้สุทธิ 1 พันล้านดอลลาร์ ตอนแรกก็คาดการณ์กันว่า จะเป็นการขายหุ้น IPO ครั้งใหญ่ที่สุดในซิลิคอน วัลเลย์ แต่ผู้สังเกตการณ์หลายคนในแวดวงต่างก็ถกเถียงกันว่า การออกหุ้น IPO ของเฟซบุ๊กถือเป็น "โชคดี" หรือ "โชคร้าย" กันแน่
*ปรากฎการณ์ที่ต้องแลกด้วยขวากหนาม
ลอว์เรนซ์ ซัมเมอร์ อดีตรัฐมนตรีคลังสหรัฐ และเป็นที่ปรึกษาของเชอรีล แซนด์เบิร์ก ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ (ซีโอโอ) ของเฟซบุ๊ก ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทมส์ว่า "การออกหุ้น IPO ของเฟซบุ๊กถือเป็น "ปรากฎการณ์ของสหรัฐอเมริกา" ซึ่งเฟซบุ๊กกำลังเผยให้เห็นถึงศักยภาพด้านใหม่ และสร้างการเชื่อมต่อแบบใหม่ อย่างเดียวกับที่ฟอร์ด มอเตอร์ ยักษ์ใหญ่แห่งอุตสาหกรรมรถยนต์ เคยทำมาแล้ว"
สำหรับบุคคลทั่วไปแล้ว หุ้น IPO ของเฟซบุ๊กถือเป็นการเปิดโอกาสให้นักลงทุนและพนักงานของบริษัทได้ทำเงินบ้าง รวมถึงการสร้างเศรษฐีหรือมหาเศรษฐีรุ่นใหม่ในซิลิคอน วัลเลย์ เพราะตั้งแต่นายหน้าค้ารถยนต์ไปจนถึงตัวแทนจำหน่ายนาฬิการะดับหรู ต่างก็ตั้งตารอซื้อหุ้นเฟซบุ๊ก หลังจากที่เครือข่ายสังคมออนไลน์รายที่เล็กกว่า อย่างลิงค์อิน (LinkIn) ได้นำร่องออกหุ้น IPO ไปก่อนหน้านี้ และช่วยให้ผู้คนหลากอาชีพเหล่านี้สามารถทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำ
อย่างไรก็ดี ผู้สังเกตการณ์กล่าวว่า แม้เฟซบุ๊กพยายามยกเครื่องระบบเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล, ขับเคลื่อนธุรกิจหลักๆ และการลดกระแสความวิตกกังวลเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ แต่ก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเฟซบุ๊กจะสามารถทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นไปได้นานแค่ไหน
จนถึงขณะนี้ ผู้ลงโฆษณาบางส่วนยังไม่มั่นใจที่จะลงโฆษณาบนเฟซบุ๊ก เนื่องจากรายงานของบริษัท ทีบีจี ดิจิตอล ซึ่งเป็นผู้ทำการตลาดให้เฟซบุ๊ก ระบุว่า แม้ธุรกิจโฆษณาของเฟซบุ๊กเติบโตได้ดีในไตรมาส 4 ปีที่แล้ว แต่จำนวนผู้ที่คลิกดูโฆษณายังต่ำมาก นอกจากนั้นเฟซบุ๊กยังต้องพึ่งพาโฆษณาเกมต่างๆเป็นอย่างมาก ซึ่งทำให้เกิดความกังวลว่าเฟซบุ๊กอาจสูญเสียรายได้มหาศาล หากบริษัทเกมเหล่านั้นตัดสินใจไม่ลงโฆษณากับเฟซบุ๊ก
Reformed Broker ซึ่งเป็นบล็อกเกี่ยวกับเศรษฐกิจและตลาดการเงิน ระบุว่า การออกหุ้น IPO อาจเป็น "โชคร้าย" สำหรับเฟซบุ๊ก เนื่องจากผู้ใช้งานเริ่มเบื่อเฟซบุ๊กและเกมต่างๆมากขึ้นเรื่อยๆ หลังเปิดให้บริการมานาน 8 ปี ขณะเดียวกัน Uncrunched ซึ่งเป็นบล็อกด้านเทคโนโลยี ชี้ว่า ผู้คนจำนวนมากเริ่มไม่อยากเข้าไปเล่นเฟซบุ๊กเพราะมีจำนวนผู้ใช้เยอะเกินไป
นอกจากนั้นเฟซบุ๊กยังมีปัญหาในเรื่องความเป็นส่วนตัว และเฟซบุ๊กจะถูกกดดันมากขึ้นแน่นอนหลังการออกหุ้น IPO และแม้ว่าเฟซบุ๊กประกาศว่า ทางบริษัทสามารถยุติคดีความกับคณะกรรมาธิการการค้าของสหรัฐ (FTC) ในเรื่องการตั้งค่าความเป็นส่วนตัว เมื่อเดือนพ.ย.ปีที่แล้ว แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่เฟซบุ๊กจะเผชิญกับกฎระเบียบด้านความเป็นส่วนตัวที่เข้มงวดมากขึ้น จากหน่วยงานในสหรัฐและประเทศในยุโรป ขณะที่ผู้สังเกตการณ์บางส่วนกล่าวว่า การออกหุ้น IPO จะเป็นจุดเริ่มต้นครั้งใหม่หรือจุดสูงสุดครั้งสุดท้ายของเฟซบุ๊ก เป็นเรื่องที่ต้องรอดูกันต่อไป
อนินดยา โกส ศาสตราจารย์ที่สเติร์น สคูล ออฟ บิสเนส แห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก กล่าวกับสำนักข่าวซินหัวว่า กลยุทธ์ของเฟซบุ๊กคือการกระจายแหล่งรายได้ โดยในปีที่แล้ว เฟซบุ๊กทำรายได้ประมาณ 85% จากการโฆษณา แต่ขณะเดียวกันรายได้ที่เหลืออีก 12-15% นั้นมาจากธุรกิจโซเชียลเกม ดังนั้นกลยุทธ์กระจายความเสี่ยงของเฟซบุ๊กจึงกำลังมุ่งไปยังทางเลือกที่ไม่ใช่การโฆษณามากขึ้นเรื่อยๆ
ผลสำรวจล่าสุดของอี-บิสิเนส รีพอร์ต ระบุว่า เฟซบุ๊ก เป็นหนึ่งในเว็บไซต์ที่มีคะแนนต่ำสุดจากกว่า 200 บริษัท ในด้านความพึงพอใจของลูกค้าในสหรัฐ พร้อมเตือนว่าเฟซบุ๊กอาจได้รับผลกระทบจากกูเกิลพลัส ทั้งนี้ ในหมวดสื่อสังคมออนไลน์ วิกิพีเดียครองอันดับหนึ่งด้วยคะแนน 78 คะแนน ตามมาด้วยยูทูบ 74 คะแนน ส่วนมายสเปซหลุดโผเพราะมีผู้ใช้งานน้อยเกินไป จนไม่สามารถสร้างตัวอย่างที่มีความหมายเชิงสถิติได้
*นักลงทุนผิดหวัง หุ้น IPO เฟซบุ๊กไม่แรงอย่างที่คิด
การประกาศออกหุ้น IPO ของเฟซบุ๊กสร้างความฮือฮาไปทั่วโลก เพราะเฟซบุ๊กเป็นธุรกิจโซเชียล มีเดีย ที่ไม่ได้มีผลิตภัณฑ์อะไรที่นำมาขายแบบเป็นเนื้อเป็นหนังหรือจับต้องได้ เป็นเพียงเว็บไซต์ที่เปิดให้ผู้คนเข้าไปสนทนา แลกเปลี่ยนและระบายอารมณ์เท่านั้น แต่ในยุคนี้ โซเชียล มีเดีย ถือเป็นนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่กำหนดวิถีชีวิตของคนเป็นพันล้านคนทุกๆวินาที กลายเป็นสิ่งเสพติดชนิดใหม่ที่ไม่ว่าคุณจะมีอาชีพอะไร อยู่ในวัยใด และมีฐานะทางสังคมอย่างไร สถานะดังกล่าวทำให้ผู้คนมองว่าเฟซบุ๊กจะกวาดรายได้จากการโฆษณามูลค่ามหาศาล จึงพากันแย่งจองซื้อหุ้นเฟซบุ๊กในวันเปิดตลาด
แต่นักลงทุนจำนวนมากประหลาดใจที่การซื้อขายหุ้นเฟซบุ๊กวันแรกไม่แรงอย่างที่คิด จากนั้นในวันที่ 2 ราคาหุ้นเฟซบุ๊ก ร่วงลงแตะที่ 33.28 ดอลลาร์ ต่ำกว่าราคา IPO ที่ 38 ดอลลาร์ สะท้อนให้เห็นว่า กระแสเฟซบุ๊กไม่แรงเหมือนที่หลายฝ่ายคาดหวังไว้
จากข้อมูลที่ยื่นต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐ (SEC) พบว่า เฟซบุ๊กออกหุ้น IPO จำนวน 421 ล้านหุ้น ที่ราคาหุ้นละ 38 ดอลลาร์ ซึ่งจะให้เฟซบุ๊กสามารถระดมทุนได้กว่า 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์ และถือเป็นการออกหุ้นไอพีโอที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาบริษัทอินเทอร์เน็ต
กระแสที่แผ่วลงของเฟซบุ๊กทำใหนักวิเคราะห์มองว่า ราคาหุ้นเฟซบุ๊กอาจเผชิญกับภาวะ overvalued หรือการเปิดตัวในราคาที่สูงเกินไปที่ 38 ดอลลาร์ ก่อนที่ความเป็นจริงจะเริ่มปรากฏในการซื้อขายวันต่อๆมา เมื่อราคาหุ้นเฟซบุ๊กตกลงมาเรื่อยๆ นักวิเคราะห์กล่าวว่า หุ้นโซเชียล มีเดีย อย่างเฟซบุ๊กถือเป็นหุ้นที่มีความเสี่ยงไม่น้อย เหตุผลประการแรกคือ ธุรกิจออนไลน์เหล่านี้อยู่ได้ด้วยรายได้จากการโฆษณา เฟซบุ๊กมีฐานผู้ใช้อยู่หลายล้านคนทั่วโลก ก็ย่อมมีน้ำหนักต่อการดึงดูดลูกค้ากลุ่มโฆษณามากพอสมควร แต่ในช่วงไม่กี่วันก่อนหน้าที่เฟซบุ๊กจะเปิดขายหุ้น IPO นั้น เจนเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) ค่ายรถยนต์รายใหญ่ของสหรัฐ ประกาศถอนโฆษณาออกจากเฟซบุ๊ก โดยให้เหตุผลว่า การโฆษณาบนเฟซบุ๊กไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ
ประการที่สอง การเติบโตของเฟซบุ๊กนั้น ส่วนหนึ่งเป็นการเติบโตมาเคียงคู่กับตลาดสมาร์ทโฟนซึ่งเติบโตอย่างร้อนแรงมากในช่วงที่ผ่านมา แต่ทว่าเฟซบุ๊กก็ยังไม่เคยพิสูจน์ให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า เมื่อตลาดสมาร์ทโฟนเริ่มชะลอตัวลง เฟซบุ๊กจะเดินหน้าต่อไปได้จริงหรือไม่ และประการสุดท้ายคือ เฟซบุ๊กเป็นเว็บไซต์โซเชียล มีเดีย ที่ช่องทางทำรายได้มีไม่มากนักเมื่อเปรียบเทียบกับเว็บไซต์อื่นๆ เช่น อะเมซอน หรืออีเบย์ ซึ่งเป็นเว็บไซต์ธุรกิจออนไลน์ที่ติดตลาดโลกไปแล้ว อีกทั้งยังเป็นเว็บที่มีมูลค่าในตัวเอง
สิ่งที่เฟซบุ๊กจะต้องพิสูจน์ให้นักลงทุนเห็นก็คือว่า จะทำอย่างไรให้เว็บสามารถสร้างมูลค่าได้มากกว่านี้ นอกเหนือไปจากฐานผู้ใช้นับล้านๆคนที่ถือเป็นสินทรัพย์และความได้เปรียบของเฟซบุ๊กเพียงอย่างเดียวในเวลานี้เท่านั้น นอกจากนี้ การที่ธุรกิจโซเชียล มีเดียเป็นสินทรัพย์ที่อยู่ในโลกเสมือนจริง ก็ยิ่งทำให้เฟซบุ๊กต้องทำการบ้านมากขึ้นด้วย
* แม้ราคาหุ้น IPO แผ่ว แต่หัวใจ "มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก" กลับพุ่งทะยานชนแนวต้าน
หนังสือเรื่อง"แอคซิเดนทอล บิลเลียนแนร์ส" อ้างอิงถึงชานว่า เธอเป็นสาวเอเชีย น่ารัก สูงสง่า ผมสลวยดำเป็นเงา และมีรอยยิ้มชวนมอง ชาน พูดได้ 3 ภาษา ทั้งอังกฤษ สแปนิช และจีนกวางตุ้ง เธอสามารถทำตัวเองไม่ให้เป็นจุดสนใจ มีจิตใจอ่อนโยน อารมณ์ดี รักเด็ก นอกจากนี้ ชานยังเป็นผู้จุดประกายความคิดให้ซัคเคอร์เบิร์กใช้เฟซบุ๊กเป็นเครื่องมือในการทำประโยชน์เพื่อสังคมด้วยการเปิดพื้นที่ในเฟซบุ๊กให้เป็นช่องทางสื่อสารช่วยเหลือกันระหว่างผู้บริจาคและผู้ต้องการรับบริจาคอวัยวะ
แม้หุ้นเฟซบุ๊กจะเผชิญมรสุมของภาวะ overvalued หรือ tech flameout ในตลาดหุ้น แต่หัวใจของหนุ่มมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์กในยามนี้ คงไม่มีอะไรหอมหวานไปกว่าการได้อยู่เคียงข้างภรรยาคนสวยที่แสนดีและเป็นแรงบันดาลใจให้เขาใช้ชีวิตต่อไปในวันข้างหน้าได้ ... จะห่วงก็แต่สาวๆที่แอบหลงรักหนุ่มมาร์ค ป่านนี้คงจะตาร้อนผ่าวเมื่อแอบเข้าไปดู profile ภาพหวานปานน้ำผึ้งของคู่บ่าวสาว