สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI)ฟันธงผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 รายใหญ่ในปัจจุบันจะได้รับใบอนุญาต 3G จากการประมูลที่จะเกิดขึ้นเร็วๆนี้ โดยไม่มีรายใหม่เข้ามา พร้อมทั้งเสนอให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)กำหนดราคาประมูลตั้งต้นในรอบนี้สูงกว่าครั้งที่ผ่านมาที่ 3.84 หมื่นล้านบาทของคลื่นทั้งหมด 45 เมกะเฮิร์ตซ เพื่อทดแทนส่วนแบ่งสัมปทาน 4.8 หมื่นล้านบาท เหตุเป็นการจ่ายครั้งเดียวและดำเนินการได้ยาว 15 ปี
นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ผู้อำนวยการ TDRI เปิดเผยว่า การประมูลออกใบอนุญาตคลื่นความถี่ 2.1 เมกะเฮิร์ตของ กสทช. ที่ได้แบ่งคลื่นความถี่ออกเป็น 9 สล็อต และมีสล็อตละ 5 เมกะเฮิร์ซต นั้น โดยกสทช.ได้ใช้วิธีการประมูลรูปแบบใหม่อย่าง Simultaneous Asceending Auction (SAA) ซึ่งเป็นการประมูลแบบที่ราคาเพิ่มสูงขึ้นๆเรื่อยในแต่ละรอบ และจะไม่มีการใช้วิธีการ N—1 เหมือนครั้งที่ผ่านมานั้น TDRI มีความคิดเห็นว่าทางกสทช. ควรจะคำนึงถึงสภาพโครงสร้างของตลาดโทรคมนาคมไทยก่อน เนื่องจากปัจจุบันมีรายใหญ่ที่ดำเนินธุรกิจอยู่เพียง 3 รายหลักได้แก่ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์ซิส(ADVANC), บมจ.โทเทิ่ล แอ็สเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) และ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) ทำให้ประชาชนผู้บริโภคอาจจะไม่ได้รับประโยชน์จากการแข่งขันในครั้งนี้
นอกจากนี้ การที่กสทช. ต้องการที่จะให้การประมูลครั้งนี้มีผู้ประกอบการรายเล็กเข้ามาร่วมการประมูลนั้นมองว่าคงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากตลาดโทรคมนาคมยังไม่มีการเปิดแบบเสรีเท่าที่ควร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกฎการประกอบกิจการโทรคมนาคม และรวมทั้งประกาศการครอบงำกิจการของคนต่างด้าว ที่มองว่ายังไงก็ยังขัดกับพันธกรณีไทยใน WTO รวมทั้งหากจะมีการเปิดให้ผู้ประกอบการรายอื่นๆเข้ามาร่วมประมูลนั้น กสทช ต้องดำเนินการโรดโชว์ต่างประเทศเพื่อให้ผู้ประกอบการต่างชาติที่สนใจเข้าร่วมประมูลเพื่อที่จะได้เกิดการแข่งขันที่เอื้อประโยชน์ให้กับผู้บริโภค ไม่เกิดการฮั้วประมูลกัน
ทั้งนี้ หาก กสทช. มีการโรดโชว์อาจจะไม่ทันในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ แต่จะเป็นการช่วยให้การประมูล 4 จี และรับมือกับวงการอุตสาหกรรมในอนาคต มีผู้ประกอบการหน้าใหม่เข้ามา แต่ทั้งนี้กสทช เองก็ต้องปรับกฎกติกา ให้กับรายใหม่ อาทิ การสงวนใบอนุญาตไว้เฉพาะรายใหม่ , ยื่นซองประมูล , การให้ส่วนลด โปรโมชั่น เพื่อที่จะดึงดูดความสนใจให้เข้าร่วมประมูลเป็นต้น
นอกจากนี้ ในส่วนของราคาตั้งต้นของการประมูล 3 จีนั้น นายสมเกียรติ กล่าวว่า เนื่องจากทรัพยากรคลื่นนั้นเป็นสมบัติของประเทศชาติ การที่จะนำเอาไปประมูลเพื่อให้เกิดธุรกิจนั้น ประเทศชาติต้องได้รับประโยชน์เหมือนกัน กสทช.ไม่มีความจำเป็นที่จะลดราคา เพราะเนื่องจากในอดีตที่ผ่านมาภาคเอกชนต้องจ่ายค่าสัมปทานให้รัฐวิสาหกิจรวมแล้วประมาณ 4.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นรายได้ที่จะต้องนำส่งคืนภาครัฐ และ การประมูล 3G ครั้งที่ผ่านมาราคาตั้งต้นอยู่ที่ 3.84 หมื่นล้านบาท ของคลื่นทั้งหมด 45 เมกะเฮิร์ตซ ดังนั้น กสทช.ควรที่จะคิดราคาที่อยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 4,300 ลบ / 5 เมกะเฮิร์ตซ เนื่องจากการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนถือว่าเป็นการจ่ายครั้งเดียวแต่ได้กำไรจากการทำธุรกิจอย่างต่อเนื่อง