สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ประจำสัปดาห์ (28 พฤษภาคม — 1 มิถุนายน 2555) ปริมาณการซื้อขายตราสารหนี้มีมูลค่ารวม 420,058 ล้านบาท หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ 84,012 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้านี้ประมาณ 16% ทั้งนี้เมื่อแยกตามประเภทของตราสารแล้วจะพบว่ากว่า 81% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด หรือประมาณ 341,598 ล้านบาท เป็นการซื้อขายในตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (State Agency Bond) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นตราสารที่มีอายุคงเหลือค่อนข้างน้อย (ไม่เกิน 6 เดือน) ในขณะที่พันธบัตรรัฐบาลที่ออกโดยกระทรวงการคลัง (Government Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 62,718 ล้านบาท และหุ้นกู้ที่ออกโดยภาคเอกชน (Corporate Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 3,750 ล้านบาท หรือคิดเป็น 15% และ 1% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ตามลำดับ
สำหรับพันธบัตรรัฐบาล รุ่นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือรุ่น LB193A (อายุ 6.77 ปี) LB145B (อายุ 1.94 ปี) และ LB155A (อายุ 2.97 ปี) มีมูลค่าการซื้อขายในแต่ละรุ่นเท่ากับ 12,051 ล้านบาท 9,548 ล้านบาท และ 8,656 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนพันธบัตรที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย รุ่นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงสุด 3 อันดับแรก คือรุ่น CB12619A (อายุ 14 วัน) CB12612A (อายุ 14 วัน) และ CB12628C (อายุ 28 วัน) มูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 85,693 ล้านบาท 44,515 ล้านบาท และ 29,500 ล้านบาท ตามลำดับ
ทางด้านหุ้นกู้ภาคเอกชน ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกนั้น ได้แก่ หุ้นกู้ของบริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) (MBK137A (A)) มูลค่าการซื้อขาย 332 ล้านบาท หุ้นกู้ของบริษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด (TLT12DA (A)) มูลค่าการซื้อขาย 302 ล้านบาท และหุ้นกู้ของบริษัท อยุธยา แคปปิตอล ออโต้ ลีส จำกัด (มหาชน) (AYCAL12OA (A+)) มูลค่าการซื้อขาย 290 ล้านบาท
เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve) ปรับตัวลดลงในตราสารที่มีอายุคงเหลือมากกว่า 6 เดือน หรือโดยเฉลี่ยแล้วปรับตัวลดลงอยู่ในช่วงประมาณ -1 ถึง -13 Basis Point (100 Basis point มีค่าเท่ากับ 1%) ซึ่งปัจจัยหลักที่ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวลดลง ยังคงเป็นปัจจัยลบจากฝั่งยุโรป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศกรีซ รวมถึงความกังวลในภาคสถาบันการเงินของสเปน ที่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ S&P ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือสถาบันการเงิน 5 แห่ง ลงสู่ระดับที่มีความเสี่ยงสูง (Junk Status) ตลอดจน Moody’s ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารพาณิชย์ในเดนมาร์ก 9 แห่ง รวมถึง Danske Bank ธนาคารที่ใหญ่ที่สุดของเดนมาร์ก จากระดับ A2 ลงสู่ Baa1 นอกจากนี้นักลงทุนยังมีความกังวลถึงเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง
ส่วนสถานการณ์ภายในประเทศไทย ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยได้แสดงความเห็นว่ายังมีช่องว่างสำหรับการใช้นโยบายการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 3.0% ในขณะนี้ สามารถปรับลดลงได้อีก หากไทยต้องเผชิญกับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ซึ่งปัจจัยดังกล่าวเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนในสัปดาห์นี้ปรับตัวลดลง
ทั้งนี้ ในสัปดาห์ที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติกลับมามียอดซื้อสุทธิในตลาดตราสารหนี้ไทยกว่า 22,021 ล้านบาท และในมูลค่าการซื้อสุทธิทั้งหมดนี้ เป็นการซื้อสุทธิในตราสารระยะยาว (มีอายุคงเหลือมากกว่า 1 ปี) ประมาณ 1,095 ล้านบาท ทางด้านนักลงทุนรายย่อย (Individual) ในสัปดาห์นี้เปลี่ยนสถานะจากที่ส่วนใหญ่จะเป็นซื้อสุทธิมาเป็นมียอดขายสุทธิเล็กน้อย ประมาณ 198 ล้านบาท