ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก:ดาวโจนส์ปิดพุ่ง 93.24 จุดจากข่าวสเปนเตรียมขอเงินช่วยเหลือ

ข่าวหุ้น-การเงิน Saturday June 9, 2012 06:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กเดินหน้าขึ้นปิดในแดนบวกเป็นวันที่ 4 ติดต่อกันเมื่อคืนนี้ (8 มิ.ย.) หนุนให้ตลาดปิดท้ายสัปดาห์ได้ดีที่สุดในปีนี้ หลังมีกระแสคาดการณ์ว่าสเปนอาจเจรจาขอรับเงินช่วยเหลือจากอียูเพื่อพยุงภาคธนาคารในประเทศ ในขณะที่นายกรัฐมนตรี มาเรียโน ราฮอย เตรียมประชุมร่วมกับผู้นำยูโรโซนในช่วงสุดสัปดาห์นี้ แม้ว่าโดยรวมแล้วความวิตกกังวลเกี่ยวกับวิกฤตหนี้ยุโรปและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจะยังคงถ่วงตลาดอยู่ก็ตาม

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปรับตัวขึ้น 93.24 จุด หรือ 0.75% ปิดที่ 12,554.20 จุด ดัชนี S&P 500 เพิ่มขึ้น 10.67 จุด หรือ 0.81% ปิดที่ 1,325.66 จุด และดัชนี Nasdaq พุ่งขึ้น 27.40 จุด หรือ 0.97% ปิดที่ 2,858.42 จุด

ดัชนีหุ้นสหรัฐปรับตัวขึ้นจากรายงานข่าวที่ว่า ในช่วงสุดสัปดาห์นี้ สเปนอาจจะขอความช่วยเหลือทางการเงินจากสหภาพยุโรปเพื่อนำพาระบบธนาคารของประเทศให้รอดพ้นจากวิกฤต ซึ่งข่าวดังกล่าวส่งผลให้นักลงทุนเข้าซื้อหุ้นในกลุ่มต่างๆ

นอกจากนี้ ความเชื่อมั่นของนักลงทุนยังได้รับปัจจัยหนุนจากการที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ออกมาเรียกร้องอีกครั้งให้ประเทศในยุโรปดำเนินความพยายามในการรับมือกับวิกฤตการเงินในภูมิภาค ด้วยการอัดฉีดเงินให้กับธนาคารที่ต้องการเงินทุนในทันที

ทั้งนี้ ดัชนีดาวโจนส์ปิดเหนือระดับ 12,500 จุดเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่วันที่ 29 พ.ค.ที่ผ่านมา สำหรับตลอดทั้งสัปดาห์ ทั้ง 3 ดัชนีหลักพุ่งขึ้นราว 4% ซึ่งถือเป็นสัปดาห์ที่ดีที่สุดในรอบปีนี้ โดยดัชนีดาวโจนส์บวก 3.59% และ Nasdaq ทะยาน 4.04%

สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐเดินหน้าคึกคักในสัปดาห์นี้ มาจากการที่หุ้นถูกเทขายรุนแรงในหลายเดือนหลังที่ผ่านมา อันเนื่องมาจากวิกฤตหนี้ยูโรโซนและการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ขณะเดียวกัน ด้วยเหตุที่ข้อมูลเศรษฐกิจออกมาน่าผิดหวังหลายรายการทำให้นักลงทุนคาดหวังว่าบรรดาเจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายจะออกมาตรการกระตุ้นใหม่ๆ

สำหรับวานนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า สหรัฐขาดดุลการค้าลดลงในเดือนเม.ย.ที่ระดับ 5.01 หมื่นล้านดอลลาร์ จากระดับ 5.262 ในเดือนมี.ค.

อย่างไรก็ตาม หลังจากถูกเทขายอย่างหนักในสัปดาห์ก่อน นักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงมีท่าทีระมัดระวังการซื้อขาย ท่ามกลางสถานการณ์ไม่แน่นอนที่ยังคงดำเนินอยู่ทั้งในสหรัฐและในยุโรป

โดยในยุโรปนั้น สเปนได้กลายเป็นจุดศูนย์กลางใหม่ของวิกฤตหนี้ โดยมีข่าวลือในตลาดว่าสเปนอาจขอรับความช่วยเหลือทางการเงินในช่วงสุดสัปดาห์นี้ และเจ้าหน้าที่จาก 17 ชาติสมาชิกยูโรโซน จะจัดการประชุมทางโทรศัพท์ในวันเสาร์นี้ เพื่อหารือเกี่ยวกับจำนวนเงินหรือมาตรการช่วยเหลือ หลังจากที่เมื่อช่วงค่ำของวันพฤหัสบดี (เช้าวันศุกร์ตามเวลาประเทศไทย) ฟิทช์ เรทติ้งส์ ได้หั่นอันดับความน่าเชื่อถือของสเปนลง 3 ขั้น สู่ระดับ BBB จากเดิมที่ A พร้อมระบุว่า ภาคธนาคารสเปนอาจต้องการเงินช่วยเหลืออย่างน้อย 1 แสนยูโร ขณะที่นักลงทุนหวั่นว่า หลังจากปัญหาที่เกิดขึ้นในสเปนแล้ว ประเทศอื่นๆ อย่างกรีซและอิตาลีจะเจอปัญหามากขึ้นในระยะใกล้นี้

นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาการเลือกตั้งรอบใหม่ของกรีซในวันที่ 17 มิ.ย.นี้ ซึ่งนับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะหากพรรคการเมืองที่คัดค้านมาตรการรัดเข็มขัดได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนมากที่สุด กรีซก็อาจจะต้องออกจากยูโรโซน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวายในตลาดการเงินโลกมากยิ่งกว่านี้อีกอย่างแน่นอน

นอกเหนือจากความวิตกกังวลในยุโรปแล้ว ข้างฝั่งสหรัฐเองนั้น การที่นายเบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ไม่ได้ส่งสัญญาณว่าเฟดจะใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในการแถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันพฤหัสบดีนั้น ได้สร้างความผิดหวังให้กับนักลงทุนที่รอคอยให้เฟดประกาศใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบ 3 (QE3) เพื่อช่วยหนุนเศรษฐกิจ

ด้านจีนได้สร้างเซอร์ไพรส์ให้กับตลาดในสัปดาห์นี้ ด้วยการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 4 ปี อย่างไรก็ดี ความเคลื่อนไหวในครั้งนี้กลับปลุกกระแสความวิตกที่มีอยู่แล้วว่า เศรษฐกิจจีนอาจกำลังประสบกับปัญหาต่างๆมากกว่าที่ใครๆคาดคิด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ