รมว.ไอซีทีเดินเรื่องกรณีแก้ไขสัญญาสัมปทานทำรสก.สูญแสนลบ.อย่างรอบคอบ

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday June 11, 2012 08:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า หลังจากที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ทำหนังสือมายังกระทรวงไอซีทีเพื่อสอบถามข้อเท็จจริงการพิจารณาของคณะกรรมการประสานงานมาตรา 22 พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 (พ.ร.บ.ร่วมทุน) ตามสัญญาสัมปทานทาศัพท์เคลื่อนที่ ประกอบด้วย บมจ.ทีโอที (TOT) กับ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส (ADVANC) บมจ.กสท โทรคมนาคม (CAT) กับ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) บริษัท ทรูมูฟ จำกัด และ บริษัทดิจิตอลโฟน จำกัด

ทั้งนี้ เกี่ยวกับประเด็นการแก้สัญญาสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่ครั้งที่ 7 เพื่อให้มีการใช้โครงข่าย (โรมมิ่ง) ระหว่างค่ายมือถือรายอื่น และให้หักค่าใช้จ่ายจากการโรมมิ่งก่อนการคำนวณการจ่ายส่วนแบ่งสัมปทาน โดยล่าสุดที่ได้รับรายงานคือ นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงไอซีที ในฐานะประธานคณะกรรมการไกล่เกลี่ยสัญญาสัมปทานดังกล่าวได้ชี้แจงต่อ ป.ป.ช.เป็นที่เรียบร้อยแล้วว่าขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบซึ่งต้องอาศัยขั้นตอนทางกฏหมายที่ชัดเจน

อย่างไรก็ตาม จากกรณีที่หลายฝ่ายมองว่าตนในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงไอซีทีที่อาจจะเข้าค่ายในเรื่องของการเมืองและไม่เร่งดำเนินการในกรณีดังกล่าวนั้น ตนอยากจะให้ตั้งข้อสังเกตโดยไม่อยากโฟกัสไปที่บริษัทใดบริษัทเดียว เพราะการแก้สัญญาสัมปทานก็มีการแก้ในทุกบริษัท ซึ่งขณะนี้ ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะกรณีดังกล่าวถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องพิจารณาในทุกๆ ด้าน ซึ่งการพิจารณาเรื่องดังกล่าวนั้นจะไปกระทบกับหลายฝ่ายที่มีความเกี่ยวโยงไปยังข้อกฎหมาย ดังนั้นจึงต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ

รายงานข่าวแจ้งว่า ในการแก้ไขสัญญาที่สร้างมูลค่าความเสียหายหลักๆ ให้กับ 2 รัฐวิสาหกิจมีมูลค่ารวมกันกว่า 1 แสนล้านบาท ประกอบด้วย การปรับลดส่วนแบ่งบริการเติมเงิน หรือ พรีเพด ของ ADVANC และ ทีโอที จาก 25% เหลือ 20% ก่อนหน้านี้ จำนวน 7.6 หมื่นล้านบาท จนปัจจุบันได้คำนวณมาใหม่กว่า 80,000 ล้านบาท การขอขยายระยะสัญญาจากเดิม 15 ปี เป็น 22 ปี และ 22 ปี เป็น 27 ปี ของ DTAC กับ กสทฯ มูลค่ากว่า 22,000 ล้านบาท และ TRUE กับ กสทฯ มูลค่า 8,000 ล้านบาท

สำหรับความคืบหน้าในการเซ็นสัญญา 3 จี HSPA ระหว่าง กสทฯ กับกลุ่ม บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) โดยที่ตนได้เสนอให้ กสทฯ ยุติการดำเนินการใดๆ ในสัญญา และให้ทำเรื่องเพื่อขอให้กลุ่ม TRUE ยุติการดำเนินการเช่นเดียวกันนั้น ขณะนี้ นายกิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ กรรมการผู้จัดการใหญ่ กสทฯ ได้มีรายงานว่า กสทฯ อยากที่จะเป็นผู้ให้บริการโครงข่ายเอง และอยู่ระหว่างการเจรจา ทั้งนี้ หาก กสทฯ เสนองบประมาณเพื่อขอซื้อโครงข่ายทั้งหมดนั้น ก็จะต้องมาดูว่ามีสอดคล้องกับที่คณะกรรมการทุกฝ่ายเห็นชอบหรือไม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ