บลจ.ไอเอ็นจี แนะลงทุน 2/55 อย่างยืดหยุ่นรับคาดการณ์ศก.โลกยังโตเปราะบาง

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday June 11, 2012 12:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บลจ.ไอเอ็นจี(ประเทศไทย) คาดการณ์เศรษฐกิจโลกครึ่งปีหลังยังคงขยายตัวได้อย่างเปราะบาง จากปัญหาวิกฤติหนี้ยุโรปและการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐ ในขณะที่กลุ่มตลาดเกิดใหม่และเอเชียยังคงเป็นภูมิภาคที่โดดเด่นเหมาะกับการลงทุน คาดเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ยังมีความเสี่ยงหลักจากเศรษฐกิจโลก ตลาดหุ้นไทยยังคงน่าลงทุน คาดกำไรบริษัทจดทะเบียนปีนี้เติบโต 27%

นายมนรัฐ ผดุงสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน ฝ่ายจัดการลงทุน บลจ.ไอเอ็นจี คาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกในปีครึ่งปีหลังของปีนี้จะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามที่ IMF คาดการณ์การเติบโตที่ 3.5% ในปี 55 และ 4.1% ในปี 56 ท่ามกลางภาวะความไม่แน่นอนเกี่ยวกับปัญหาวิกฤติหนี้ของยุโรป แต่หากพิจารณาภาพรวมนับว่าเศรษฐกิจโดยรวมทรงตัว โดยการลงทุนในกลุ่มประเทศเกิดใหม่และภูมิภาคเอเชียยังคงเป็นกลุ่มประเทศที่ได้รับความสนใจในการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากการที่มีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจและโครงสร้างทางการเงินที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับประเทศสหรัฐอเมริกาและกลุ่มยูโรโซน

ทิศทางเศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งปีหลัง กลุ่มเศรษฐกิจที่ต้องจับตามองใกล้ชิดยังคงเป็นกลุ่มเดิมคือกลุ่มประเทศยุโรป สหรัฐฯ และจีน โดยกลุ่มประเทศยุโรปนั้น นอกจากเผชิญกับความเสี่ยงที่กรีซอาจจะต้องออกจากยูโรโซนแล้ว ยังต้องเผชิญความเสี่ยงด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจอีกด้วย เนื่องจากหลายประเทศในยุโรปมีแผนตัดลดงบประมาณในช่วงครึ่งปีหลัง เพื่อเป็นการพยุงฐานะทางการคลัง นอกจากนี้ยังต้องเผชิญความเสี่ยงในแง่ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันที่เป็นผลจากการเปลี่ยนผู้นำในหลายประเทศ ซึ่งจะทำให้การแก้ไขปัญหาวิกฤตหนี้ไม่ราบรื่นเท่าที่ควร

ส่วนในสหรัฐฯ การเติบโตทางเศรษฐกิจเริ่มชะลอลง และอาจได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากการที่เศรษฐกิจยุโรปถดถอย ซึ่งจะทำให้การฟื้นตัวล่าช้าลงไปอีก และที่สำคัญคือการว่างงาน ซึ่งหากแรงงานตกอยู่ในสภาวะว่างงานเป็นเวลานาน แรงงานเหล่านั้นอาจประสบปัญหาผลิตภาพการผลิตลดลง และนำไปสู่ภาวะการว่างงานถาวรได้ในที่สุด

สำหรับประเทศจีน เศรษฐกิจส่งสัญญาณชะลอตัวชัดเจน โดยเฉพาะภาคการผลิต เป็นเหตุให้รัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านการผ่อนคลายนโยบายการเงิน และทำให้ตลาดคาดการณ์ว่าจะมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ผ่านโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ

ด้านทิศทางเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลัง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน มองว่า เศรษฐกิจไทยจะสามารถขยายตัวได้ประมาณ 5.5-6% ในปีนี้ตามที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยและคณะกรรมการทางเศรษฐกิจและสังคมประมาณการณ์ไว้ จากการฟื้นตัวภายหลังวิกฤตน้ำท่วมทั้งการลงทุนโดยภาครัฐและการฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรม คาดว่าจะฟื้นตัวเต็มที่ตั้งแต่ไตรมาส 2/55 เป็นต้นไป

อย่างไรก็ตาม คาดว่าแรงขับเคลื่อนสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังจะมาจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนในประเทศ โดยการลงทุนเพื่อทดแทนเครื่องจักรและสิ่งปลูกสร้างที่เสียหายจากน้ำท่วมเร่งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การบริโภคมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความต้องการที่สะสมในช่วงน้ำท่วม โดยเฉพาะรถยนต์ที่ทยอยส่งมอบในไตรมาสสองเป็นต้นไป นอกจากนี้ นโยบายต่างๆ ของภาครัฐ เช่น โครงการพยุงราคาสินค้าเกษตรเช่น ข้าว ยางพารา และมันสำปะหลัง เป็นต้น จะเป็นปัจจัยรองรับให้รายได้เกษตรกรไม่ตกต่ำลงไป ขณะที่การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำและเงินเดือนข้าราชการจะช่วยเพิ่มกำลังซื้อของประชาชนโดยตรง

การลงทุนภาครัฐมาจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังภาวะอุทกภัย โดยผลักดันการใช้จ่ายของภาครัฐเป็นปัจจัยพื้นฐานสนับสนุน รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ผ่านงบประมาณ 3.5 แสนล้านบาทเพื่อใช้ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะยาวภายหลังเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ ประกอบกับรัฐบาลจัดทำแผนงานระยะยาวสำหรับโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานประมาณ 2.3 ล้านล้านบาท

ขณะที่การส่งออกเชื่อว่าผู้ส่งออกได้มีการปรับตัวมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ส่งออกไทยค่อนข้างจำกัด อีกทั้งการค้าขายกันเองในภูมิภาคที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจะเป็นปัจจัยช่วยรองรับผลกระทบจากภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจในยุโรป ทั้งนี้ ประเด็นที่ต้องจับตามองคือ ประเด็นทางการเมืองที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นใจในการบริโภคและการลงทุน

บลจ.ไอเอ็นจี มองว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยครึ่งปีหลังจะผันผวนค่อนข้างมาก เนื่องจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศสำคัญๆ ในโลก แต่ในขณะเดียวกันนักลงทุนจะมีความคาดหวังต่อนโยบายต่างๆ ที่จะมีการออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ ได้แก่ การให้เงินกู้กับธนาคารยุโรปที่มีปัญหา ความคาดหวังในการออก QE3 ของประเทศสหรัฐฯ รวมทั้งการคาดการณ์ว่าประเทศจีนอาจจะมีการออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งภาวะการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์จะมีความอ่อนไหวต่อกระแสข่าวทั้งในด้านบวกและด้านลบที่จะเกิดขึ้น สำหรับกรีซหากต้องออกจากกลุ่มยูโร คงจะมีการเตรียมพร้อมการรับมือผลกระทบ (contagion effect) ให้เกิดน้อยที่สุด

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าตลาดหุ้นไทยยังเป็นตลาดหุ้นที่อยู่ในกลุ่มที่สนใจลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ ทั้งนี้มาจากการคาดการณ์ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยจะมีอัตราการเติบโตของกำไร (EPS-Earning per Share) ร้อยละ 27 ในปีนี้ จากปัจจัยสนับสนุนทั้งการขยายตัวของรายได้ของประชาชน การอุดหนุนอย่างต่อเนื่องของภาครัฐ และผลจากการลดภาษีของนิติบุคคลจากร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 23 และเมื่อเข้าสู่ครึ่งปีหลังนักลงทุนจะเริ่มมองถึงการคาดการณ์ผลประกอบการปี 56 ที่คาดว่าน่าจะเติบโตต่อเนื่องอีกร้อยละ 14.6

ในเชิงของระดับราคา ในปัจจุบันอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิ (P/E) ของ SET Index ในปี 55 อยู่ที่ 11.1 เท่า ซึ่งอยู่ในระดับใกล้เคียงกับระดับ P/E เฉลี่ยของภูมิภาค และยังมิได้สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตของตลาดหลักทรัพย์ไทย อีกทั้งเรายังเชื่อว่าจะยังไม่มีความเสี่ยงในเรื่องของสภาพคล่องจากการไหลกลับของธนาคารกลางต่างๆ เพราะชื่อว่าเศรษฐกิจโลกจะยังคงเติบโตอย่างเชื่องช้า ดังนั้น ผลประกอบการของบริษัทจะเป็นสิ่งที่สร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนให้กลับมาลงทุนในตลาดหุ้นไทย

แต่ความเสี่ยงขึ้นกับทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง อันอาจทำให้ส่งผลกระทบต่อผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนบางกลุ่ม เช่น กลุ่มพลังงาน สินค้าโภคภัณฑ์ หรือกลุ่มส่งออก ขณะที่ปัจจัยความเสี่ยงภายในที่ต้องติดตาม ได้แก่ ปัญหาการเมืองในประเทศ ซึ่งเริ่มร้อนแรงขึ้นหลังจากที่มีความพยายามผลักดันร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรเป็นวาระเร่งด่วน

ในครึ่งปีหลังเรายังคงแนะนำให้นักลงทุนมองหาการลงทุนที่สามารถเพิ่มผลตอบแทนได้ โดยเฉพาะการลงทุนในกองทุนที่มีความยืดหยุ่นในการลงทุนระหว่างหุ้นและตราสารหนี้ เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพการลงทุนในแต่ละขณะ เพราะมองว่าการลงทุนยังคงมีความผันผวนเป็นระยะ ดังนั้น การเลือกการลงทุนที่สามารถปรับสัดส่วนการลงทุน (Portfolio Rebalancing)ได้ จะทำให้ลดความเสี่ยงได้ดีในภาวะที่ตลาดไม่เอื้ออำนวย และสามารถสร้างโอกาสผลตอบแทนที่ดีในภาวะที่ตลาดปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น กองทุนเปิดไอเอ็นจีไทยบาลานซ์ฟันด์ และกองทุนเปิด ไอเอ็นจี ไทย มิกซ์ 15/85 ปันผล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ