พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม(กทค.) เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบว่า บมจ.ไทยคม (THCOM) เป็นบริษัทที่ถือหุ้นโดยคนไทยตามกำหนดหรือไม่ เนื่องจากก่อนหน้านี้ได้มีเรื่องร้องเรียนว่า THCOM มีผู้ถือหุ้นส่วนมากเป็นชาวต่างชาติเกินกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม THCOM ได้มีการชี้แจงแล้วว่าบริษัทดำเนินธุรกิจโดยมีผู้ถือหุ้นเป็นคนไทยเกินกว่ากฏหมายกำหนด จึงไม่น่าจะมีปัญหาในเรื่องของการขอใบอนุญาตประเภทที่ 3 (เน็คเวิร์คโพรไวเดอร์) ในการประกอบกิจการดาวเทียม
ทั้งนี้ THCOM ได้ยื่นขอใบอนุญาตดังกล่าวมายัง กสทช.เพื่อที่จะนำไปดำเนินธุรกิจดาวเทียมไทยคม 7 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรักษาสิทธิวงโคจรที่ 120 องศาตะวันออก ให้กับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที)
การขอใบอนุญาตของ THCOM นั้น ถือว่าเป็นดาวเทียมที่ไม่ใช้คลื่นความถี่และอยู่เหนือจากพื้นดิน จึงไม่จำเป็นต้องมีการเปิดประมูลใบอนุญาต ดังนั้น หาก THCOM ไม่มีปัญหาในเรื่องของ พ.ร.บ.ต่างด้าว กสทช.ก็สามารถให้ใบอนุญาตประกอบกิจการดาวเทียมได้แต่ในเมื่อมีการท้วงติงว่า THCOM มีบริษัทที่ถือครองโดยคนต่างด้าว ดังนั้น กทค.จึงต้องตรวจสอบก่อน
"การขอใบอนุญาตประกอบกิจการดาวเทียมเป็นใบอนุญาตประเภทที่ 3 ไม่จำเป็นต้องทำอะไรเพิ่มเติม โดย กสทช.จะยังคงยึดร่างประกาศเดิม ส่วนในเรื่องของค่าธรรมเนียมใบอนุญาตจากเดิมที่กำหนดไว้ที่ 2% นั้น ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาเช่นกันว่าจะยังคงค่าธรรมเนียมเท่าเดิมหรือไม่" พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าว
นอกจากนี้ ในการประชุม กทค.ยังมีการเสนอจากสำนักงาน กสทช.ให้มีการปรับปรุงประกาศค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (ไอซี) โดยที่ประชุมเห็นชอบให้ปรับปรุงร่างประกาศแนวทางหลักๆ เพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อไป
ด้านนางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร THCOM กล่าวว่า บริษัทฯ กำลังรอการพิจารณาขั้นสุดท้ายในเรื่องการออกใบอนุญาตเพื่อใช้ดำเนินงานดาวเทียมไทยคม 7 โดยดาวเทียมไทยคม 7 จะเป็นดาวเทียมดวงแรกที่จะดำเนินงานภายใต้ใบอนุญาต และจะนำมาใช้กับดาวเทียมลูกต่อๆ ไปของบริษัทฯ
สำหรับดาวเทียมไทยคม 4, 5 และ 6 นั้น จะยังอยู่ภายใต้สัญญาสัมปทาน อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาอันสมควร ทางบริษัทฯ จะร้องขอให้เปลี่ยนเป็นใบอนุญาตต่อไป