กมธ.สภาฯจี้แก้ปัญหาทรูฯจอดำช่วงบอลยูโร เรียกทุกฝ่ายหาข้อสรุปพรุ่งนี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday June 14, 2012 13:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค และคณะกรรมาธิการสื่อสารและโทรคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร เชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับปัญหาถ่ายทอดสัญญาณโทรทัศน์ฟุตบอลยูโรเข้าชี้แจง โดยในการประชุมคณะกรรมาธิการทั้ง 2 คณะมีการตั้งประเด็นคำถามต่อผู้มาชี้แจง ทั้งในส่วนของตัวแทน บริษัท จีเอ็มเอ็มแซท จำกัด, บริษัท ทรูวิชั่นส์ จำกัด และตัวแทนคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในกรณีทีวีจอดำ

ทั้งนี้ กมธ.ทั้งสองคณะได้สอบถามถึงสาเหตุที่ทำให้คนไทยไม่สามารถชมการถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลยูโรบนฟรีทีวีผ่านกล่องรับสัญญาณทรูวิชั่นส์ได้ และจะทำอย่างไรให้คนไทยได้ชมการแข่งขัน โดยขอให้ตัวแทนของจีเอ็มเอ็มแซทเปิดเผยรายละเอียดของหนังสือที่ส่งไปถามยูฟ่าว่าจะให้ทรูวิชั่นส์ถ่ายทอดสัญญาณได้ด้วยหรือไม่

นายเดียว วรตังตระกูล กรรมการผู้จัดการบริษัท จีเอ็มเอ็ม แซท ยืนยันว่า ไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะเป็นเรื่องความลับและต้องถามทางยูฟ่าก่อน พร้อมยืนยันว่าไม่สามารถให้สิทธิการถ่ายทอดสสดกับทางทรูวิชั่นส์ได้ เพราะไม่ได้ทำธุรกิจร่วมกัน ขณะที่การให้สัญญาย่อยกับบริษัท ไอพีเอ็ม จำกัดนั้นได้ผ่านการทำหนังสือสอบถามไปยังยูฟ่าแล้ว

ตัวแทนจีเอ็มเอ็มแซท ระบุว่า ก่อนหน้านี้เคยเสนอให้ทรูวิชั่นส์เช่ากล่องสัญญาณจากจีเอ็มเอ็ม แซทเพื่อให้ถ่ายทอดการแข่งขันแล้วแต่ได้รับการปฏิเสธ ปัญหาจึงบานปลายมาถึงปัจจุบัน เมื่อถึงตอนนี้การดำเนินการใดๆ ต้องขออนุญาตจากยูฟ่าเท่านั้น ทำให้จีเอ็มเอ็มแซท ไม่สามารถให้สัญญาณกับทางทรูวิชั่นส์ได้

และเพื่อเป็นการแก้ปัญหานี้ในอนาคต อยากเสนอให้จัดเวทีพูดคุยกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายโดยให้ภาครัฐเป็นตัวกลางสำคัญในการจัดการเพื่อให้เป็นมาตรฐานต่อไปในอนาคต ซึ่งกมธ.รับปากว่าภาครัฐจะเข้าไปดูแลเรื่องนี้ แต่เห็นว่าทรูวิชั่นส์ ต้องหาทางเยียวยาผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบไม่สามารถดูฟุตบอลได้ ไม่ใช่เพียงยอมจ่ายค่าปรับอย่างเดียว

ด้านนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรมต. ที่กำกับดูแล ได้เรียกดูสัญญาระหว่างจีเอ็มเอ็มแซทและยูฟ่า พร้อมเชิญผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ ช่อง 3 5 9 และทีวีดาวเทียมทุกช่องที่ได้ลิขสิทธิ์ เพื่อหาข้อสรุป ในวันพรุ่งนี้ (15 มิ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล ถ้าไม่สามารถดำเนินการได้ ต้องใช้ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งมีทั้งความผิดทั้งทางแพ่งและอาญา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ