นางสาวปวีณา เหล่าวิวัฒน์วงศ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.สหโมเสคอุตสาหกรรม (UMI) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ายอดขายปี 55 ที่ 2.7 พันล้าน หรือเติบโต 8% จากปี 54 ซึ่งถือเป็นการเติบโตที่มากกว่าตลาดกระเบื้องในปีนี้ที่คาดโต 7% ทั้งนี้ ในช่วง 5 เดือนแรกบริษัทมียอดขายเป็นไปตามเป้าหมาย
ขณะที่แนวโน้มยอดขายในช่วงครึ่งปีหลังถ้าไม่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมก็คาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะลูกค้าที่ยังลังเลในกล้าซื้อสินค้าในช่วงครึ่งปีแรกก็จะมาซื้อในช่วงครึ่งปีหลังมากขึ้น
ทั้งนี้ หลังจากการที่บริษัทเข้าไปถือหุ้นบมจ.โรแยล ซีรามิคอุตสาหกรรม (RCI) และบริษัท ที.ที.เซรามิค จำกัด (TTC) ก็น่าจะส่งผลให่ยอดขายรวมของทั้งกลุ่มในอีก 2 ปีข้างหน้าเพิ่มขึ้นเกิน 5 พันล้านบาท ซึ่งถือว่าเติบโตอย่างก้าวกระโดด และช่วงระยะเวลา 3 ปีต่อจากนี้บริษัทยังไม่มีแผนที่จะขยายกำลังผลิตหรือซื้อกิจการเพิ่มเติม โดยจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาบริษัทที่ซื้อมาทั้ง 2 แห่งให้แข็งแรงก่อน
ประกอบกับอุตสาหกรรมกระเบื้องไทยปัจจุบันเหลือบริษัทขนาดใหญ่เพียงแค่ 3 บริษัทเท่านั้น โดย UMI มีส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับที่ 3 แต่หลังจากเข้าซื้อกิจการจะทำให้ส่วนแบ่งการตลาดของทั้งกลุ่มเพิ่มเป็น 15% จากปัจจุบันที่ 10% ขณะที่มูลค่าตลาดกระเบื้องไทยในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 3 หมื่นล้านบาท
สำหรับการซื้อหุ้น RCI ตามแผนคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 21 มิ.ย. โดย ณ วันที่ 13 มิ.ย. มีคนเสนอขายหุ้น RCI คิดเป็น 32% จากที่บริษัทต้องการเข้าไปถือที่ระดับ 30-40% แล้ว ซึ่งถือว่าเป็นไปตามแผนที่ตั้ง และถ้าได้ถือหุ้น 32% ก็จะถือเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ RCI ส่วนการเข้าไปเพิ่มทุน TTC คาดว่าจะได้เห็นภายในปีนี้ ซึ่งขณะนี้ TTC ยังอยู่ในกระบวนการฟื้นฟูของศาล
ทั้งนี้ เงินที่จะเข้าไปซื้อกิจการ TTC จำนวน 400 ล้านบาท มาจากเงินกู้ ส่วนการซื้อ RCI เป็นกระแสเงินสดของบริษัทจำนวน 10 ล้าน รวมแล้วปีนี้บริษัทใช้เงินซื้อกิจการทั้งสิ้น 500 ล้านบาท
ปัจจุบัน UMI มีกำลังการผลิต 20 ล้านตารางเมตรต่อปี, RCI 10 ล้านตารางเมตรต่อปี และ TTC 8 ล้านตารางเมตรต่อปี ขณะที่สัดส่วนยอดขายของบริษัทแบ่งเป็นในประเทศ 70% ต่างประเทศ 30
นางสาวปวีณา กล่าวว่า บริษัทยังไม่มีแผนปรับขึ้นราคาสินค้าในขณะนี้ โดยจะพยายามตรึงราคาให้ถึงที่สุด แม้ว่าต้นทุนจะปรับตัวขึ้นมาบ้าง เช่น ต้นทุนค่าแรง แต่ต้นทุนวัตถุดิบยังไม่ขึ้นมากนัก โดยราคาแก็สมีทิศทางขาลง อย่างไรก็ตามบริษัทจะเน้นที่การเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเป็นหลัก โดยออกสินค้าที่ใช้นวัตกรรมใหม่ซึ่งราคาสูงเพื่อรักษากำไรขั้นต้น