(เพิ่มเติม) TOP คาดจับมือพันธมิตรลงทุนโรงกลั่นในอินโดฯ-พม่า,ปี 55 GIM 7-8 เหรียญฯ

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday June 14, 2012 15:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ไทยออยล์(TOP)วางแผนขยายการลงทุนในอาเซียน เล็งจับมือพันธมิตรในท้องถิ่นร่วมลงทุนธุรกิจโรงกลั่นในประเทศอินโดนีเซีย เพื่อรองรับความต้องการใช้ในประเทศที่อยู่ในระดับและประชากรจำนวนมาก ขณะที่ในพม่าก็จะเข้าไปเริ่มที่ธุรกิจโรงกลั่นเช่นกัน

ขณะเดียวกันการผลิตในไทยจะขยายกำลังการผลิตไปในสินค้าที่เพิ่มมูลค่าต่อยอดจากธุรกิจโรงกลั่น โดยในปีนี้คาดว่าจะได้ความชัดเจนการลงทุนการผลิตสารชะล้าง (LAB) ที่ใช้อุตสาหกรรมทำความสะอาดภายในปีนี้ คาดใช้วงเงินลงทุนกว่า 200 ล้านเหรียญ

ทั้งนี้ บริทคาดว่าจะใช้เงินลงทุนในช่วง 5 ปี (ปี 55- 59) จำนวนประมาณ 1.5 พันล้านเหรียญ ที่บริษัทมีความสามารถก่อหนี้ได้เพิ่มที่จะมีอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) เพิ่มเป็น 1 เท่าจากปัจจุบันอยู่ที่ 0.2 เท่า

นายวีรศักดิ์ โฆสิตไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TOP เปิดเผยว่า บริษัทเห็นว่าการเข้าลงทุนธุรกิจโรงกลั่นในอินโดนีเซียมีความเป็นไปได้ และได้เริ่มพูดคุยกับเปอตามีน่า ซึ่งบริษัทน้ำมันปิโตรเลียมแห่งชาติของอินโดนีเซียบ้างแล้ว คาดว่าจะใช้เวลาในการหารือเจรจากัน ทั้งนี้ บริษัทต้องการเข้าไปร่วมทุนกับพันธมิตรเพื่อกระจายความเสี่ยง ร่วมมือด้านตลาดและเทคโนโลยี รวมทั้งมีความเป็นไปได้ที่จะมีการลงทุนไปถึงปิโตรเคมีด้วยเช่นเดียวกับในไทย โดยบริษัทเชื่อว่าความต้องการน้ำมันสำเร็จรูปในอินโดนีเซียจะเพิ่มสูงขึ้น

"ในอินโดนีเซียเราจะเข้าไปเชิงธุรกิจ เพราะสภาพคลาดมีความพร้อม อินโดนีเซียมีขนาดตลาดใหญ่ ประชากร 230 ล้านคน และมีความต้องการเยอะกว่า และยังมีการนำเข้าน้ำมันอยู่มาก เป็นตลาดที่น่าสนใจเข้าไปลงทุน...เราจะเริ่มต้นที่ธุรกิจโรงกลั่น ซึ่งต้องใขช้เวลาในการพูดคุย" นายวีรศักดิ์ กล่าว

สำหรับในพม่า บริษัทมองที่จะเริ่มต้นธุรกิจโรงกลั่น ซึ่งปัจจุบันมีโรงกลั่นของรัฐบาลพม่า เชื่อว่าหากรัฐบาลพม่าต้องการให้บริษัทเข้าไปช่วยเหลือธุรกิจก็ยินดีที่จะเข้าไป ทั้งนี้บริษัทได้ลงทุนในเวียดนาม ธุรกิจโซลเว้นท์แล้ว

"การทำแผนธุรกิจไม่ได้ทำแผนธุรกิจเฉพาะในประเทศ แต่มองทั้งอาเซียน ซึ่งอาเซียนเป็นโอกาสที่ดีของไทยออยล์ที่มีประชากรกว่า 600 ล้านคน เรามุ่งไปลงทุนในพม่า เวียดนาม อินโดนีเซีย" ประธานเจ้าหน้าทีบริหาร TOP กล่าว

ตามแผนลงทนในปี 55-59 ที่ตั้งงบลงทุนทั้งหมด 1,845 ล้านเหรียญ แบ่งเป็นโครงการที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทจำนวน 989 ล้านเหรียญ ซึ่งจำนวนนี้ได้รับสิทธิประโยชน์จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) 300 ล้านบาท ซึ่งสามารถขอคืนได้ จึงใช้เงินลงทุนจริงจำนวน 673 ล้านเหรียญ ส่วนอีก 856 ล้านเหรียญ เน้นขยายกำลังการผลิตสินค้ามูลค่าเพิ่มต่อยอดจากธุรกิจโรงกลั่น ดังนั้น บริษัทจึงต้องลงทุนจริง 1.5 พันล้านเหรียญ โดยบริษัทสามารถกู้เงินได้เพิ่มจากปัจจุบันที่มี D/E ที่ 0.2 เท่า ได้เป็น 1 เท่า

สำหรับโครงการขยายกำลังการผลิตสินค้ามูลค่าเพิ่มของปิโตรเคมี เพื่อให้มาร์จิ้นสูงขึ้น ได้แก่ โครงการผลิตสารชะล้าง (LAB) ที่คาดใช้เงินลงทุน 200-300 ล้านเหรียญ กำลังการผลิตอย่างน้อย 1 แสนตัน/ปี โดยขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาโครงการคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้ หรืออย่างช้าต้นปีหน้า หากตัดสินใจดำเนินโครงการนี้บริษัทก็จะกลายเป็นผู้ผลิตรายแรกของประเทศ ซึ่ง LAB เป็นสารตั้งต้นผลิตสบู่ ผงซักฟอก เครื่องสำอาง โดยแนวโน้มความต้องการ LAB เพิ่มมากขึ้นตามเศรษฐกิจที่ดีขึ้นในเอเชีย

นอกจากนี้ มีโครงการผลิตน้ำมันเครื่อง Lube Specialty -WAX กำลังการผลิต 36,000 ตัน/ปี คาดว่าจะผลิตได้ในปลายปี 56 และจะเพิ่มเป็น Lube Group 3 ซึ่งเป็นน้ำมันเครื่องคุณภาพใกล้เคียงน้ำมันเครื่องสังเคราะห์ เบื้องต้นคาดว่าใช้งบลงทุน 180 ล้านเหรียญ จะสรุปชัดเจนได้ในอีก 6-7 เดือนข้างหน้า โดยให้ทบทวนผลการศึกษาอีกครั้งในเรื่องตลาดรองรับที่จะให้ครอบคลุมทั้งอาเซียน ที่จะเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ซึ่งคาดว่าจะจะมีความต้องการค่อนข้างสูง

อีกทั้งบริษัทจะเพิ่มกองเรือที่จะซื้ออีก 2-3 ลำจากที่มีอยู่แล้ว 1 ลำ เพื่อรองรับความต้องการขนส่งทางเรือในกลุ่มปตท. โดยจะหาจังหวะเข้าซื้อในเรือราคาถูก

*ปี 55 GIM ที่ 7-8 เหรียญ

นางสาวภัทรลดา สง่าแสง ผู้จัดการฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ TOP คาดว่า ค่าการกลั่นรวมของบริษัทในปีนี้ เฉลี่ยที่ 7-8 เหรียญ/บาร์เรล (ไม่รวมสต็อกน้ำมัน) จากไตรมาส 1/55 อยู่ที่ 6.7 เหรียญ/บาร์เรล และปี 54 อยู่ที่ 7.8 เหรียญ/บาร์เรล ทั้งนี้คาดว่าในครึ่งหลังของปีนี้จะมี GIM สูงขึ้นจากความต้องการมากขึ้น ส่วนค่าการกลั่น GRM ในปีนี้เฉลี่ยที่ 4-5 เหรียญ/บาร์เรล

นายวีรศักดิ์ กล่าวว่า ในไตรมาส 2 มีโอกาสที่จะเผชิญการขาดทุนสต็อกน้ำมัน โดยปัจจุบันราคาน้ำม้นดิบดูไบอยู่ที่ 97 เหรียญ/บาร์เรล ซึ่งต่ำกว่าราคาเมื่อสิ้นปีที่แล้ว และจากไตรมาส 1/55 ที่ราคาเฉลี่ย 116 เหรียญ/บาร์เรล อย่างไรก็ดี คาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยที่ 107 เหรียญ/บาร์เรลในปีนี้ นอกจากนี้ บริษัทได้เข้าบริหารความเสี่ยงโดยการทำประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันขณะนี้ 10% ของสต็อกน้ำมัน จากที่สามารถทำได้ถึง 50% และบริหารสต็อกน้ำมันให้มีจำนวนต่ำที่สุด

อย่างไรก็ดี คาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังราคาน้ำมันจะกระเตื้องขึ้นตามฤดูกาลที่จะมีความต้องการใช้สูงขึ้น โดยคาดว่าในไตรมาส 3/55 ราคาจะดีดตัวขึ้นมาที่ 101 เหรียญ/บาร์เรล และ 106 เหรียญ/บาร์เรล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ