เลขาธิการอาเซียนแนะ SME หันมาค้าขายกันเองในกลุ่มอาเซียนมากขึ้นจากปัจจุบันมียอดการค้าระหว่างกันเพียง 25% ขณะที่มองไทยรับผลกระทบจากวิกฤตหนี้ยุโรปไม่มาก ด้านผู้บริหาร บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย(SCC)เชื่อการลงทุนกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์จะได้เปรียบในปีนี้ ส่วน บมจ.บ้านปู(BANPU)ชี้ลงทุนต่างประเทศต้องมีจุดแข็งและบุคคลากรพร้อม ส่วนบมจ.ซาบีน่า (SABINA)ให้ความสำคัญกับแบรนด์ในการกระจายตลาดต่างประเทศ
นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน กล่าวในงานสัมมนา"การส่งเสริมการลงทุนต่างประเทศของภาคเอกชนไทย"ว่า ผู้ประกอบการ SME ไทยควรจะมีการค้าขายระหว่างประเทศอาเซียนด้วยกันมากขึ้น หวังว่าในปี 58 ที่เปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC)การค้าขายระหว่างกันของอาเซียนควรจะเพิ่มขึ้นเป็น 30% จากปัจจุบันอยู่ที่ 25% จากมูลค่าตลาดรวมของอาเซียนอยู่ที่ 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 5 แสนดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่อีก 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นการค้าขายระหว่างกับจีน สหรัฐ ยุโรป
ทั้งนี้ ประเทศในอาเซียนควรจะเพิ่มการค้าขายกันมากขึ้นเพื่อรองรับกับการเปิด AEC รวมถึง การเคลื่อนย้ายการลงทุนระหว่างกัน การร่วมกันใช้บริการระหว่างกันมากขึ้น สร้างโครงข่ายเชื่อมโยงทั้งถนน การคมนาคม การเดินเรือระหว่างกันให้มากขึ้น โดยดูจากกลุ่มยูโรเป็นตัวอย่างที่รวมกัน 27 ประเทศ มีการค้าระหว่างกันสูงถึง 70% ฉะนั้น ตัวเลขการค้าอาเซียนด้วยกันควรจะเพิ่มขึ้นกว่านี้
ส่วนวิกฤตหนี้ยุโรปเป็นปัญหาที่รุนแรงและกระทบกับเศรษฐกิจยุโรป ซึ่งเป็นโอกาสที่เอเชียจะต้องพัฒนาตัวเอง กระตุ้นตัวเองให้เข้มแข็งมากขึ้น นายสุรินทร์ คาดว่าไทยจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตหนี้ยุโรป ไม่ค่อยมาก ที่เห็นชัด คือ มีนักท่องเที่ยวยุโรปเข้ามาเที่ยวไทยน้อยลง กำลังซื้อจากฝั่งยุโรป อาจลดลงไปบ้าง แต่เชื่อว่าสุดท้ายแล้วสามารถประคองตัวได้
ด้านนายเชาวลิต เอกบุตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ การเงินและการลงทุน SCC กล่าวในหัวข้อ "โอกาสและช่องทางการลงทุนต่างประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของบริษัทไทย" ว่า การลงทุนในต่างประเทศต้องศึกษาให้ดีทั้งโอกาสและความเสี่ยงในการลงทุน อย่างเช่นปีนี้ อุตสาหกรรมยายยนต์จะได้เปรียบ ที่เห็นได้จากการลงทุนในไทยขยายตัว รวมถึงประเทศอินโดนีเซีย
นายชนินท์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BANPU กล่าวว่า กลุ่มอุตสาหกรรที่จะไปลงทุนในต่างประเทศ เห็นว่าสามารถลงทุนได้แทบทุกธุรกิจ ได้แก่ กลุ่มอาหาร ค้าปลีก การบริการ แต่ต้องมีความพร้อมและมีจุดแข็งที่จะออกไป อย่าง่เช่นการตั้งฐานการผลิตในประเทศนั้นๆ ต้องมีบริษัทแข็งแรงและ มีบุคคลากรพร้อม หรือการทำตลาดต่างประเทศก็ต้องสามารถใช้แบรนด์ขยายตลาดได้ใน 5-10 ประเทศ ส่วนระบบการผลิตควรจะใช้เป็นระบบเดียวกัน ขณะที่วัตถุดิบในประเทศไหน ถูกกว่า ดีกว่าก็ให้ไปลงทุนที่นั้น แต่บางธุรกิจต้องทำ R&D ล่วงหน้า และออกไปด
นายบุญชัย ปัณฑุรอัมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SABINA กล่าวว่า การเข้าลงทุนในแต่ละประเทศจะต้องมั่นใจเรื่องสาธารณูปโภคของประเทศนั้นๆ ว่ามีความพร้อมหรือไม่ และต้องยอมแข่งขันในด้านแบรนด์ เพราะจะคุ้มค่ากว่าการรับจ้างผลิต แต่เมื่อมีงานวิจัย ตนเองพบว่าการนำแบรนด์ไปขยายตลาดต่างประเทศดีกว่า อย่างไรก็ตาม ต้องดูภาวะอุตสาหกรรมและการตลาดด้วย