สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ประจำสัปดาห์ (11 - 15 มิถุนายน 2555) ปริมาณการซื้อขายตราสารหนี้มีมูลค่ารวม 414,214 ล้านบาท หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ 82,843 ล้านบาท ลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้านี้ประมาณ 10% ทั้งนี้เมื่อแยกตามประเภทของตราสารแล้วจะพบว่ากว่า 77% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด หรือประมาณ 317,547 ล้านบาท เป็นการซื้อขายในตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (State Agency Bond) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นตราสารที่มีอายุคงเหลือค่อนข้างน้อย (ไม่เกิน 6 เดือน) ในขณะที่พันธบัตรรัฐบาลที่ออกโดยกระทรวงการคลัง (Government Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 70,299 ล้านบาท และหุ้นกู้ที่ออกโดยภาคเอกชน (Corporate Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 5,837 ล้านบาท หรือคิดเป็น 17% และ 1% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ตามลำดับ
สำหรับพันธบัตรรัฐบาล รุ่นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือรุ่น LB21DA (อายุ 9.53 ปี) LB15DA (อายุ 3.51 ปี) และLB176A (อายุ 5.02 ปี) มีมูลค่าการซื้อขายในแต่ละรุ่นเท่ากับ 14,806 ล้านบาท 14,588 ล้านบาท และ 10,442 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนพันธบัตรที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย รุ่นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงสุด 3 อันดับแรก คือรุ่น CB12703A (อายุ 14 วัน) CB12712C (อายุ 28 วัน) และ BOT144A (อายุ 2 ปี) มูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 64,923 ล้านบาท 33,540 ล้านบาท และ 31,591 ล้านบาท ตามลำดับ
ทางด้านหุ้นกู้ภาคเอกชน ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกนั้น ได้แก่ หุ้นกู้ของบริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) (LH133A (A)) มูลค่าการซื้อขาย 1,099 ล้านบาท หุ้นกู้ของบริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) (SCCC136A (A)) มูลค่าการซื้อขาย 958 ล้านบาท และหุ้นกู้ของบริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) (MBK137A (A)) มูลค่าการซื้อขาย 497 ล้านบาท
เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve) ปรับตัวลดลงในกลุ่มของตราสารอายุ 3 — 15 ปี หรือโดยเฉลี่ยแล้วปรับตัวลดลงอยู่ในช่วงประมาณ -7 ถึง -10 Basis Point (100 Basis point มีค่าเท่ากับ 1%) โดยภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา นักลงทุนยังคงเน้นลงทุนในพันธบัตรระยะสั้นอายุไม่เกิน 1 ปีเป็นหลักเพื่อรอผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย ในวันพุธที่ 13 มิ.ย โดยผลการประชุมเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ คือ กนง. มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 3% เช่นเดิม ด้วยเหตุผลว่าเศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกประเทศ โดยเฉพาะสถานการณ์ในกลุ่มยูโรโซนที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ในขณะที่การขยายตัวของเงินเฟ้อล่าสุด (Core Inflation ในเดือนพฤษภาคม) กลับปรับตัวลดลง ทำให้ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีความเสี่ยงด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากกว่าความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ และถึงแม้ ธปท. จะส่งสัญญาณว่าพร้อมที่จะดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนปรน และพร้อมปรับนโยบายให้เหมาะสมตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป แต่นักลงทุนในตลาดยังคงคาดการณ์ว่า ธปท. น่าจะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยในระยะเวลาอันใกล้นี้ มีผลทำให้ในช่วงท้ายสัปดาห์ มีแรงซื้อจากนักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาในพันธบัตรช่วงอายุ 3-10 ปี และส่งผลให้อัตราผลตอบแทนปรับตัวลดลงประมาณ 4 - 8 bps.
ทั้งนี้ ในสัปดาห์ที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสุทธิในตลาดตราสารหนี้ไทยกว่า 28,197 ล้านบาท และในมูลค่าการซื้อสุทธิทั้งหมดนี้ เป็นการซื้อสุทธิในตราสารระยะยาว (มีอายุคงเหลือมากกว่า 1 ปี) ประมาณ 10,346 ล้านบาท ทางด้านนักลงทุนรายย่อย (Individual) ในสัปดาห์นี้ยังคงมียอดซื้อสุทธิ ประมาณ 515 ล้านบาท