พ.อ.เศรษฐพงศ์ มะลิสุวรรณ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กทค.มีมติความเห็นสอดคล้องกับที่ นายชัยฤกษ์ ดิษฐอำนาจ ประธานคณะอนุกรรมการตรวจสอบสัญญา 3จี ของการเซ็นสัญญา 3 จี HSPA บนคลื่นความถี่ 800 เมกะเฮิร์ตซ ระหว่างกลุ่ม บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) กับ บมจ.กสท โทรคมนาคม (CAT) ซึ่งขัดต่อมาตรา 46 พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 (พ.ร.บ.กสทช.)
และมีมติให้ กสท. ไปปรับปรุงแก้ไขสัญญาดังกล่าวให้มีความถูกต้องและสอดคล้องกับมาตรา 46 พ.ร.บ.กสทช.ภายใน 30 วัน โดยนับวันที่ กทค.ออกคำสั่งไปยัง กสท.
ทั้งนี้ คณะอนุฯ ได้พิจารณาโดยยึดถือข้อกำหนดในสัญญาและนำคำชี้แจงประกอบพฤติกรรมในการปฏิบัติตามสัญญาของบริษัทคู่สัญญามารับฟังเป็นพยานหลักฐานประกอบการพิจารณาเพื่อให้มีความชัดเจนขึ้น ทั้งนี้ กสท.ในฐานะผู้ได้รับใบอนุญาตกลับไม่สามารถควบคุมและรับผิดชอบเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์
สำหรับสัญญามีความไม่ชอบตามมาตรา 46 พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ที่ห้ามโอนสิทธิ์การใช้คลื่นความถี่ไปให้บุคคลอื่น โดยแบ่งเป็น 3 ประเด็น คือ ประเด็นที่ 1 การทำสัญญาระหว่าง กสท. กับกลุ่ม TRUE ที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ 800 เมกะเฮิร์ตซ เป็นสัญญาปกครองที่การกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ
ดังนั้น จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 47 และมาตรา 27 (4) และ (6) ประกอบมาตรา 40 แห่งพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 มีคำสั่งให้ กสทฯ ในฐานะผู้ได้รับจัดสรรคลื่นความถี่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามมาตรา 46 โดยดำเนินการเพื่อให้มีการแก้ไขข้อสัญญาที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รูปแบบใหม่บนคลื่นความถี่ 800 เมกะเฮิร์ตซ ให้สอดคล้องกับมาตรา 46 ทั้งหมด 6 ข้อ ดังนี้
1.กสทฯ ต้องสามารถนำคลื่นความถี่ย่าน 800 เมกะเฮิร์ตซ ไปใช้กับเครื่องและอุปกรณ์ของกสทฯ หรือของบริษัทอื่นได้ 2.กสทฯ ต้องควบคุมดูแลและบริหารจัดการเน็ตเวิร์ก โอปอเรเตอร์ เซ็นเตอร์) อย่างสมบูรณ์ 3.ข้อมูลการใช้งาน ต้องอยู่ในความครอบครองของ กสทฯ 4. อำนาจของคณะกรรมการควบคุมการปฏิบัติงานตามสัญญาต้องมีความชัดเจน โดยแสดงให้เห็นถึงอำนาจในการบริหารจัดการคลื่นความถี่ของ กสทฯ
5. กระบวนการสร้างและจัดหาความจุของ บริษัท บีเอฟเคที (ประเทศไทย) จะต้องแสดงให้เห็นว่า กสทฯ เป็นผู้มีอำนาจแต่เพียงผู้เดียวในการตัดสินใจในเรื่องแผนคลื่นความถี่ แผนการขยายโครงข่าย และการปฏิบัติงานอย่างสมบูรณ์ และ 6.กสทฯ ต้องเป็นผู้มีอำนาจแต่เพียงผู้เดียวในการเจรจาการให้บริการข้ามโครงข่ายภายในประเทศ และการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมกับผู้ประกอบการรายอื่น
ประเด็นที่ 2. กรณีความชอบด้วยกฎหมายเกี่ยวกับโทรคมนาคมอื่นๆ โดยเฉพาะประเด็นด้านการแข่งขัน กทช.ปฏิบัติหน้าที่แทน กสทช. เคยมีมติแล้วเมื่อ 28 ก.ย.55 โดยมีคำสั่งให้คู่สัญญาดำเนินการแก้ไขปรับปรุงข้อกำหนดในสัญญาให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งปัจจุบันคู่สัญญาได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้เพิกถอนมติหรือคำสั่งที่พิพาทดังกล่าว และอยู่ในระหว่างกระบวนการพิจารณาของศาลปกครอง จึงไม่สมควรหรือมีมติหรือออกคำสั่งซ้ำ
ประเด็นที่ 3. กรณีการดำเนินการของบริษัท บีเอฟเคที (ประเทศไทย) จำกัด ที่คณะอนุกรรมการฯมีความเห็นว่าอาจเข้าข่ายเป็นการประกอบกิจการโทรคมนาคมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา 67 แห่งพ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 คณะอนุกรรมการฯ เสนอให้กสทช.ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลใช้อำนาจตามมาตรา 47 แห่งพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 มีคำสั่งเร่งรัดให้กสท.ในฐานะผู้ได้รับใบอนุญาตดำเนินการแก้ไขข้อสัญญาให้สอดคล้องกับมาตรา 46 แห่งพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 โดยต้องทำให้กสท. ควบคุมดูแลและบริหารจัดการคลื่นได้อย่างสมบูรณ์ ถ้าไม่ดำเนินการจะถือว่า บีเอฟเคที เข้าข่ายเป็นการประกอบกิจการโทรคมนาคมบางส่วนของ กสท ที่ไม่ได้รับใบอนุญาต มีความผิดตามมาตรา 67
"ประเด็นที่ 3 กทค.มีมติ ให้สำนักงาน กสทช. ตรวจสอบข้อเท็จจริงและกฎหมายเกี่ยวกับการดำเนินงานของ บีเอฟเคที ตั้งแต่วันที่ทำสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รูปแบบใหม่บนคลื่นความถี่ 800 เมกะเฮิร์ตซ กับ กสท ว่าเข้าข่ายเป็นการประกอบกิจการโทรคมนาคมบางส่วนของ กสท ที่ไม่ได้รับใบอนุญาตหรือไม่ โดยให้เวลาดำเนินงาน 30 วันนับตั้งแต่วันที่มีมติ (20 มิ.ย.)" พ.อ.เศรษฐพงศ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม การมีมติของ กทค.วันนี้เป็นการใช้คำสั่งทางปกครอง ดังนั้น สัญญาจึงไม่มีการทำให้เป็นโมฆะ เพราะมีผลกระทบต่อประโยชน์ของสาธารณะ ระหว่างที่มีการแก้ไขสัญญาดังกล่าวตามมติของ กทค.จะไม่ส่งผลกระทบต่อการให้บริการ 3จีของ กสท. และ TRUE หรือลูกค้าต้องไม่ได้รับผลกระทบ
ด้านนายกิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ กรรมการผู้จัดการใหญ่ กสท. กล่าวว่า กสท. พร้อมและยินดีปฏิบัติตามมติของบอร์ด กทค. ทุกประการ ซึ่งหากได้รับคำสั่งจาก กสทช.อย่างเป็นทางการแล้ว จะเร่งดำเนินการตามระยะเวลาที่กำหนด โดย กสท.ไม่มีสิทธิที่จะปฏิเสธอยู่แล้ว เพราะถือว่า กสทช.เป็นหน่วยงานที่กำกับดูแล และ กสท.ก็เป็นหน่วยงานของรัฐวิสาหกิจก็ต้องปฏิบัติตามอยู่แล้ว ส่วนเรื่องที่ TRUE จะเห็นด้วยและปฏิบัติตามมติหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับกลุ่ม TRUE