การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เตรียมเปิดซองราคาโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต สัญญาที่ 2 ช่วงต้นเดือนหรือกลางเดือน ก.ค.55 โดยมีผู้ผ่านเข้ารอบแรกมา 2 ราย คือ บมจ.ช.การช่าง(CK) และ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์(ITD)
แหล่งข่าวผู้บริหาร รฟท. กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"ว่า จากความสำเร็จในการเจรจาต่อรองกับบมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น(STEC) ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่ม S.U. Joint Venture ที่ประกอบด้วย STEC และบมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์(UNIQ) ซึ่งเสนอราคาต่ำสุดในการประมูลสัญญาที่ 1 ของงานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง โดยกลุ่มดังกล่าวยินยอมปรับลดราคาลงแล้ว ทำให้เกิดความชัดเจนในการปรับวงเงินงานก่อสร้างสัญญาที่ 2 และสัญญาที่ 3
ดังนั้น สัปดาห์หน้า รฟท.โดยกระทรวงคมนาคมจะเสนอขอปรับเพิ่มวงเงินก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดงประมาณ 10% ของกรอบวงเงินเดิมที่ 7.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งใช้ฐานราคาเมื่อ พ.ย.51 เพื่อให้สะท้อนความเป็นจริง หากครม.เห็นชอบกรอบวงเงินที่ปรับขึ้นแล้ว จึงจะยื่นให้องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) เห็นชอบก็จะจบขั้นตอนการประมูลสัญญาที่ 1
"ตอนนี้ครม.เดิมให้ปรับวงเงินแต่ไม่ได้ปรับวงเงินที่ชัดเจน ดังนั้น การรถไฟฯจึงต้องรอผลการประกวดสัญญาแรกก่อน ซึ่งตอนนี้ชัดเจน ก็จึงเสนอให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ เสนอตัวเลขงบประมาณที่เหมาะสมของทั้งสามสัญญา" แหล่งข่าว กล่าว
ต่อจากนั้น รฟท. สามารถเปิดซองราคาสัญญาที่ 2 ได้ทันที เพราะก่อนหน้านี้ได้ประกาศผลผู้ผ่านเทคนิคไปแล้วมี 3 ราย ได้แก่ STEC , CK, ITD แต่เนื่องจากสัญญาที่ 1 กับสัญญาที่ 2 ผูกพันกัน โดย STEC กับ CK มีสิทธิได้ 1 สัญญา ขณะที่ ITD มีสิทธิได้งานทั้งสองสัญญา แต่เมื่อ STEC ได้งานสัญญาที่ 1 แล้วก็จะตัดสิทธิในสัญญาที่ 2 ดังนั้น จึงเหลือ CK และ ITD ที่จะแข่งขันราคาประมูลงานก่อสร้างสัญญาที่ 2
"คิดว่าน่าจะเปิดซองราคาได้ต้นกรกฎาคม หรือไม่ก็กลางกรกฎาคม ได้ผลแล้วก็ต้องเสนอไจก้าต่อไป"แหล่งข่าว กล่าว
อนึ่ง โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ได้มีการปรับวงเงินไปรอบหนึ่งแล้วจากเดิมมูลค่าโครงการ 6.93 หมื่นล้านบาท เป็น 7.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีการยื่นประมูลตั้งแต่ปลายปี 53 แต่หลังจากราคาน้ำมันผันผวนมากและกระทบกับเศรษฐกิจโลกเป็นเหตุให้ราคาวัสดุก่อสร้างปรับขึ้นอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม กลุ่ม S.U. Joint Venture ยื่นเป็นผู้ยื่นราคาประมูลต่ำสุดที่ 3.4 หมื่นล้านบาท และต่อรองมาที่ 3.1 หมื่นล้านบาท จากนั้นก็เจรจาต่อรองกันอีก โดยรายงานข่าวระบุว่าในที่สุด STEC ได้ปรับลดวงเงินก่อสร้างลงมาที่ 2.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งสูงกว่าราคากลางที่ 2.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งสูงกว่า 10% และเป็นระดับที่ทำได้ตามระเบียบทาราชการที่ให้ปรับขึ้นได้ไม่เกิน 10% ของราคากลาง
ด้านนายวรพันธ์ ช้อนทอง กรรมการรองผู้จัดการ สายงานการเงินและบริหาร STEC กล่าวว่า แม้บริษัทจะยอมปรับลดค่าก่อสร้างสัญญาที่ 1 ของรถไฟฟ้าสายสีแดง แต่ราคานี้บริษัทไม่ได้ขาดทุนหรือมีกำไรน้อยลง ซึ่งขณะนี้บริษัททั้ยังไม่ต้องการให้รายละเอียดมากกว่านี้ รอให้ทางราชการเป็นผู้แถลงจะดีกว่า