บมจ.ระยองเพียวริฟายเออร์ (RPC) ระบุถึงกรณี บมจ.ปตท. (PTT) ได้ยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวขณะดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการ และศาลได้มีคำสั่งอายัดเงินจำนวน 498,078,015.26 บาท ที่บริษัทจะจ่ายเป็นเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นนั้นว่า กรณีดังกล่าวส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ถือหุ้น และจะมีนำกรณีดังกล่าวหารือกับทางบริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อออกกฎระเบียบปกป้องผู้ลงทุนไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอยอีก
สำหรับการดำเนินงานของ RPC ในปี 55 นี้ คาดว่าจะมีรายได้ 4 พันล้านบาท จาก 2.4 หมื่นล้านบาทในปีก่อน โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปทำธุรกิจเหมืองแร่ในไตรมาส 3/55 ส่วนการขายโรงกลั่นและไบโอดีเซล คาดสรุปได้ในปีนี้
นายสัจจา เจนธรรมนุกูล ประธานกรรมการ RPC กล่าวว่า บริษัทพร้อมจะปฎิบัติตามคำสั่งศาลหลังจากศาลแพ่งมีคำสั่งอายัดเงินปันผล 498.07 ล้านบาท ตามคำร้องของ บมจ.ปตท. (PTT) ที่อ้างว่าบริษัทและผู้ถือหุ้นเจตนายักย้ายทรัพย์สินออกนอกเขตอำนาจศาล ซึ่งยืนยันว่าบริษัทและผู้ถือหุ้นไม่มีเจตนาตามที่ PTT อ้าง เพราะตลอดเวลา 15 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้ชำระเงินค่าวัตถุดิบแก่ PTT กว่า 2 แสนล้านบาทโดยไม่เคยผิดนัดชำระค่าซื้อวัตถุดิบแม้แต่ครั้งเดียว และบริษัทยังช่วยปรับราคาช่วงที่บริษัทลูกของ PTT คือ ATC ประสบความยากลำบากเมื่อปี 41-42
นอกจากนี้ บริษัทยังคงมีทรัพย์สินกว่า 3.5 พันล้านบาท และบริษัทลูกอื่นๆ ที่ยังดำเนินกิจการได้ตามปกติ และยังมีคดีฟ้องร้องที่บริษัทได้ยื่นคำร้องต่ออนุญาโตตุลาการและศาลแฟ่ง กรณี PTT และ ATC ผิดนัดไม่จัดส่งวัตถุดิบแก่บริษัทตามสัญญา รวมถึงจัดส่งวัตถุดิบไม่ได้คุณภาพ ก่อเกิดความเสียหายต่อบริษัทมากถึง 1.3 หมื่นล้านบาท และฟ้องร้องทางแพ่งอีก 9 พันล้านบาท ซึ่งอนุญาโตตุลาการได้นัดพร้อมไต่สวนนัดแรกในวันที่ 5 ก.ค.55 นี้ ส่วนกรณีที่ PTT อ้างศาลว่าบริษัทยึดค่าหน่วงวัตถุดิบเป็นจำนวน 1.5 พันล้านบาท ฟ้องต่ออนุญาโตตุลาการเมื่อ พ.ค.55 นั้นถือเป็นจำนวนเล็กน้อยมื่อเทียบค่าเสียหายที่บริษัทเรียกร้อง
"การกระทำของปตท.ถือว่าทำให้บริษัทไม่มีเวลาชี้แจงต่อศาล เพราะได้ยื่นคำร้องเมื่อ 14 มิ.ย.ก็มีผลทันทีในวันนี้ ในขณะที่การจ่ายปันผลได้มีมติมาเป็นเดือนแล้ว แต่ปตท.กลับเพิ่งมาดำเนินการ...อยากฝากไปถึงผู้ถือหุ้นกว่า 3 พันรายว่าเหตุที่เกิดขึ้นวันนี้ไม่เคยเกิดขึ้นนับแต่การก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์และมีผลกระทบต่อผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุนมาก" นายสัจจา กล่าว
อย่างไรก็ตามหลังมีคำสั่งอายัดเงินปันผลดังกล่าว แต่มีผู้ถือหุ้นบางส่วนได้รับเงินปันผลซึ่งโอนเงินเข้าไปแล้วราว 100 ล้านบาท แต่มีผู้ถือหุ้นบางรายยินยอมคืนเงินปันผลดังกล่าวราว 40 ล้านบาท ส่วนที่เหลือบริษัทคงไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ เพราะถือเป็นสิทธิของผู้ถือหุ้นที่ได้รับเงินปันผลแล้ว ในขณะที่บริษัทคงต้องรอคำสั่งศาล หลังได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอเพิกถอนคำสั่งอายัดเงินปันผลเมื่อวันที่ 22 มิ.ย.55
นอกจากนี้บริษัทเตรียมหารือกับศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นนายทะเบียน เพื่อที่จะให้มีการออกกฎระเบียบปกป้องผู้ลงทุน ไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอยที่ส่งผลกระทบต่อผู้ลงทุนให้เกิดความเสียหายและสร้างความสับสนได้
"TSD ก็ไม่เคยเจอปัญหาแบบนี้ และส่งผลกระทบต่อผู้ลงทุน ก็อยากจะหารือกับ TSD เพราะไม่อยากให้เกิดปัญหาขึ้นอีกครั้ง เพราะผู้ลงทุนก็ไม่เข้าใจว่าปันผลก็มาจากกำไรสะสมของบริษัทและเป็นการประกาศล่วงหน้าเป็นเดือนแล้วดังนั้นควรจะมีการออกกฎระเบียบอะไรออกมาเพื่อปกป้องผู้ลงทุน" นายสัจจา กล่าว
นายสัจจา ยังกล่าวถึงการดำเนินธุรกิจของบริษัทว่า ในปี 55 คาดว่าบริษัทจะมีรายได้ราว 4 พันล้านบาท จากปีก่อนที่มีรายได้ 2.4 หมื่นล้านบาท โดยเป็นรายได้จากบริษัทลูกค้าในธุรกิจค้าปลีกและศูนย์การค้าเพียวเพลส ในขณะที่ธุรกิจโรงกลั่นไม่มีรายได้แล้วหลังปตท.งดส่งวัตถุดิบตั้งแต่ 1 ก.พ.55 และหวังว่าปีนี้จะยังมีกำไรสุทธิ จากปีก่อนที่มีกำไรรวม 172 ล้านบาท
ส่วนการขายโรงกลั่นและโรงไบโอดีเซล มูลค่าราว 2 พันล้านบาท ขณะนี้มีนักลงทุนต่างประเทศให้ความสนใจและอยู่ระหว่างการเจรจา 2-3 ราย คาดว่าจะมีข้อสรุปภายในปีนี้ แต่โรงกลั่นของบริษัทเป็นการออกแบบเฉพาะการรับวัตถุดิบในประเทศ ดังนั้นหากใช้วัตถุดิบจากประเทศอื่นๆ โรงกลั่นจะไม่สามารถรองรับได้ แต่บริษัทพร้อมก่อสร้างเพิ่มเติมให้เพื่อให้โรงกลั่นรองรับวัตถุดิบได้หลากหลาย
นอกจากนี้บริษัทยังอยู่ระหว่างเปลี่ยนการทำธุรกิจ โดยจะทำธุรกิจเหมืองแร่ควอทซ์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาร่วมทุนกับพันธมิตรในประเทศ คาดว่าใช้เงินลงทุนเบื้องต้นราว 100 ล้านบาท จะมีข้อสรุปการลงทุนในไตรมาส 3/55
"การทำธุรกิจใหม่เราต้องระมัดระวัง แต่การทำทุกธุรกิจเราจะมีพาร์ทเนอร์ด้วย...เป้าหมายของเราในอนาคตคือการเป็นโรงงานผลิตโซลาเซลล์" นายสัจจา กล่าว