คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) คาดประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมประมูลใบอนุญาต 3G บนคลื่น 2.1 GHz. ได้ในช่วงกลางเดือน ส.ค.55 หล้งร่างสารสนเทศการประมูลดังกล่าว(IM 3G) ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาแล้ว เชื่อว่าจะเปิดประมูลได้ในเดือน ต.ค.นี้ โดยสัปดาห์นี้จะมีการกำหนดราคาเริ่มต้นประมูล
ขณะที่โอเปอเรเตอร์ขอรอดูราคาเริ่มต้นประมูลก่อนจะกำหนดราคาเข้าประมูลเพราะต้องดูความคุ้มค่า ขณะที่เกณฑ์ของ กสทช.จะให้กระจายการให้บริการ(Roll Out) 50% ภายในสองปีเป็นไปตามความต้องการของตลาดมากกว่า
พ.อ.เศรษฐพงศ์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช. กล่าวว่า ในช่วงบ่ายวันนี้จะมีการประชุมคณะอนุกรรมการกิจการโทรคมนาคม เพื่อกำหนดราคาเริ่มต้นประมูล(Reserved Price) และจะนำข้อสรุปเสนอที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม(กทค.) จากนั้นจะนำเสนอให้คณะกรรมการ กสทช. พิจารณาเห็นชอบ และจะกำหนดไว้ในร่าง IM 3G ซึ่งในร่างดังกล่าวก็จะมีการประกาศการใช้ทรัพยากรร่วมกันเพื่อไม่ให้มีการลงทุนซ้ำซ้อน การโรมมิ่งทั้งภาคบังคับและภาคสมัครใจ
หลังจากนั้น กสทช.จะเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซด์ในเดือน ก.ค.นี้ และเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในเดือน ส.ค.55 จากนั้นจะประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา
"กลางสิงหาคมร่วมเชิญผู้ประกอบการเข้าประมูลจนถึงกันยายน แล้วจะประมูลในเดือนตุลาคม...ผมยอมรับว่าการดำเนินการ tight มากๆ ให้ตรงกับกรอบเวลาแต่ผมเจตนาให้มีการประมูลคลื่นความถี่ให้เร็วที่สุด" พ.อ.เศรษฐพงศ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นการเปิดประมูลคลื่นความถี่เป็นครั้งแรกในประเทศ ในวันนี้จึงได้จัดเปิด Pre-Mock Auction 3G on 2.1 GHz. เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้เกิดความเข้าใจขั้นตอนการประมูลในเชิงหลักการ
ขณะที่นายนพปฎล เดชอุดม ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น(TRUE) กล่าวว่า บริษัทยังไม่มีการจัดงบในการเข้าประมูล เพราะต้องรอดูราคาเริ่มต้นประมูลเสียก่อน รวมทั้งระยะเวลาการเก็บค่าธรรมเนียมใบอนุญาตเป็นลักษณะใด ขณะเดียวกันธุรกิจมือถือปัจจุบันก็ใช้งบลงทุนอยู่ โดยปัจจุบันเป็นหนี้สถาบันการเงินจำนวน 4.96 หมื่นล้านบาท ต้นทุนทางการเงินราว 8%
อย่างไรก็ดีบริษัทได้เจรจากับพันธมิตรหลายรายซึ่งเคยพูดคุยเมื่อปี 53 ที่จะมีการเปิดประมูล ทั้งนี้พันธมิตรต้องมี Global, Alliance สามารถมี Economy of Scale เกี่ยวกับ handset และด้านการเงิน
ด้านนายพรรัตน์ เจนจรัสสกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ส่วนงานวางแผนและวิเคราะห์การตลาด บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) กล่าวว่า บริษัทมีความคาดหวังประมูลคลื่นความถี่อย่างน้อย 15 MHz. แต่ถ้าได้จำนวน 20 MHz. ก็ยิ่งดี แต่ต้องพิจารณาถึงความคุ้มค่าในการลงทุนด้วยเพราะหากต้องจ่ายค่าประมูลสูงก็ไม่ดี หากราคาประมูลสูงเกินไปจำนวน 15 MHz. ก็น่าจะพอต่อการดำเนินธุรกิจ
ส่วนการที่ กสทช.จะกำหนดให้มีการ Roll Out 50% ใน 2 ปีเห็นว่าถ้าความต้องการใช้มาก โอเปอเรเตอร์นั้นต้องทำให้ได้ตามที่ลูกค้าต้องการซึ่งเห็นว่าควรเติบโตไปตามกลไกตลาด