นายทัศพล แบเลเว็ลล์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) เปิดเผยว่า ทางสายการบินไทยแอร์เอเชีย เตรียมย้ายสายการบินทุกเที่ยวบินทั้งเส้นทางในประเทศ และระหว่างประเทศ กลับมาให้บริการที่ท่าอากาศยานดอนเมือง ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.นี้เป็นต้นไป โดยใช้ชื่อไฟล์ FD และกำหนดเวลาทุกเที่ยวบินเหมือนที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
"การตัดสินย้ายกลับมาให้บริการที่ท่าอากาศยานดอนเมืองในครั้งนี้ บริษัทได้มีการพิจารณาอย่างถ้วนถี่แล้ว และเห็นถึงความพร้อมของท่าอากาศยานดอนเมือง รวมทั้งมาตรการดูแลของ ทอท.ที่ทำให้สายการบินสามารถบริหารจัดการต้นทุนได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและผู้โดยสารจะได้รับความสะดวกสบายยิ่งขึ้นอีกด้วย" นายทัศพล กล่าว
นายทัศพล กล่าวว่า การย้ายฐานการบินกลับมาให้บริการที่ท่าอากาศยานดอนเมืองในครั้งนี้คาดว่าจะใช้งบประมาณทั้งหมด 60-80 ล้านบาท แต่จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิง เนื่องจากระยะเวลาที่เครื่องบินรอทำการบินสั้นกว่าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ คาดว่าจะช่วยประหยัดค่าเชื้อเพลิงได้ประมาณ 5% ของเชื้อเพลิงที่ใช้ทั้งหมด โดยปกติสายการบินมีค่าใช้จ่ายน้ำมันอยู่ที่ปีละประมาณ 5,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นมูลค่าที่ประหยัดได้ประมาณปีละ 250 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้กำไรสุทธิของบริษัทในภาพรวมเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่สามารถระบุเป็นจำนวนเงินได้ แต่จะไม่ส่งผลต่อรายได้ในปีนี้อย่างมีนัยสำคัญ โดยบริษัทยังคงเป้ารายได้ปี 55 เติบโตที่ระดับ 20-25%
พร้อมตั้งเป้า อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) สำหรับเส้นทางในประเทศ 82-84% และเส้นทางระหว่างประเทศ ที่ 78-80%
โดยแนวโน้มรายได้ในปี 56 คาดว่าจะเติบโตอย่างโดดเด่น เนื่องจากจะมีจำนวนเครื่องบินให้บริการเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันอยู่ที่ 24 ลำ และจะเพิ่มเป็น 27 ลำในสิ้นปีนี้ และภายในปี 59 จะมีฝูงบินให้บริการครบ 48 ลำตามที่บริษัทตั้งเป้าไว้
ขณะที่ปริมาณผู้โดยสารโดยเฉพาะผู้โดยสารเส้นทางภายในประเทศ และเส้นทางบินภูมิภาคของบริษัทฯ จะเพิ่มขึ้นมากกว่าการให้บริการที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยตั้งเป้าอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสารเส้นทางบินภายในประเทศอยู่ที่ 82-84% ผู้โดยสารระหว่างประเทศอยู่ที่ 78-80% จากเดิมเฉลี่ยอยู่ที่กว่า 80% ขณะเดียวกันตั้งเป้าว่าภายในปี 2559 สายการบินจะมีปริมาณผู้โดยสารปีละ 16 ล้านคน จากปีนี้อยู่ที่ประมาณ 8 ล้านคน
"ที่เราย้ายมา เหตุผลหลักเพราะความแออัดของสุวรรณภูมิ ซึ่งกว่าจะเปิดเฟส 2 ได้ก็ต้องใช้เวลาอีกนาน ท่าอากาศยานดอนเมืองจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้อย่างเต็มที่ไม่แออัด ประกอบกับมีทำเลที่ตั้งเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อการเดินทางที่เหมาะสม โดยเฉพาะในอนาคตเมื่อเรารับเครื่องแอร์บัส A320ใหม่เข้ามาประจำการฝูงบินจนครบ 48 ลำภายในปี 59 ท่าอากาศยานดอนเมืองก็จะสามารถรองรับการเติบโตได้อย่างแน่นอน"นายทัศพล กล่าว
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าจำนวนผู้โดยสารจะลดลงในช่วง 2-3 เดือนแรกหลังย้ายฐานการบินโดยเฉพาะผู้โดยสารต่างประเทศ แต่ภาพรวมทั้งปีจำนวนผู้โดยสารจะยังคงเติบโตตามเป้าหมาย
ด้านว่าที่เรืออากาศโทอนุรุทธิ์ ถนอมกุลบุตร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย(AOT) หรือ ทอท. กล่าวว่า สายการบินไทยแอร์เอเชียจะใช้พื้นที่ภายในอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ 1 ซึ่งสามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารได้ปีละ 16.5 ล้านคน พื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งหมดจะแล้วเสร็จพร้อมให้บริการตั้งแต่เดือน ก.ค.นี้
ส่วนการให้สิทธิประโยชน์กับสายการบินที่ย้ายกลับมาให้บริการที่ท่าอากาศยานดอนเมือง โดยให้ส่วนลดค่าธรรมเนียมการขึ้นลงของอากาศยาน ค่าเช่าสำนักงาน ค่าเช่าพื้นที่ และค่าบริการเคาน์เตอร์เช็คอินประมาณ 10-30% คิดเป็นเงินที่สูญไปประมาณ 246 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนของรายได้ของ ทอท.ทั้งหมดเพียง 0.5% ถือว่ามีผลต่อการดำเนินงานน้อยมาก
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ทอท.ยังอยู่ระหว่างเจรจากับสายการบินเป้าหมายที่จะย้ายกลับมาให้บริการที่ท่าอากาศยานดอนเมืองที่เหลืออีก 13 สายการบิน เบื้องต้นมีสายการบินเตรียมจะย้ายประมาณ 3-4 สายการบิน เช่น สายการบินโอเรียนท์ไทย ซึ่งตนเองยังไม่ยืนยันว่าจะมีสายการบินใดบ้าง โดยมีความเป็นไปได้ว่าสายการบินเป้าหมายทั้งหมด 14 สายการบินจะย้ายกลับมาที่ท่าอากาศยานดอนเมือง
ส่วนการย้ายสายการบินกลับมาจะช่วยลดการขาดทุนของท่าอากาศยานดอนเมืองได้หรือไม่นั้น คงต้องติดตามกระแสเงินสดที่จะได้รับก่อนว่าเป็นอย่างไร ขณะนี้ยังแจ้งรายละเอียดไม่ได้ แต่เบื้องต้นคือท่าอากาศยานดอนเมืองจะต้องมีรายได้ปีละไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท จึงจะสามารถแก้สินทรัพย์ด้อยค่าได้
"ทอท.สูญรายได้จากการให้ส่วนลดค่าธรรมเนียมการบิน และค่าเช่าอื่นๆให้สายการบินที่กลับมาให้บริการที่ท่าอากาศยานดอนเมือง แต่ ทอท.จะมีขีดความสามารถในการรองรับการเติบโตของผู้โดยสารที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพิ่มขึ้น โดยที่ผู้โดยสารคงได้รับความสะดวกสบาย" ว่าที่เรืออากาศโทอนุรุทธิ์ กล่าว