"ทริส"จัดเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกัน TICON วงเงินไม่เกิน 500 ลบ.ที่ A/Stable

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday June 25, 2012 17:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 500 ล้านบาทของ บมจ.ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น (TICON) ที่ระดับ “A" พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ "A" เช่นกัน โดยแนวโน้มยังคง "Stable" หรือ "คงที่" อันดับเครดิตระดับ "A" สะท้อนถึงสถานะผู้นำในธุรกิจโรงงานสำเร็จรูปและคลังสินค้าให้เช่า ตลอดจนกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอจากรายได้ค่าเช่าโรงงานและคลังสินค้า

ทั้งนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงวิกฤติภาวะหนี้ในยุโรปที่ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนทั่วโลกซึ่งอาจส่งผลต่อการเติบโตของบริษัทในอนาคต ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" อยู่บนพื้นฐานการคาดการณ์ว่าบริษัทจะยังสามารถรักษาความเป็นผู้นำในตลาดโรงงานสำเร็จรูปให้เช่าได้ต่อไป การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์และภาคการลงทุนจะส่งผลให้ความต้องการพื้นที่โรงงานและคลังสินค้าให้เช่าเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะมีความกังวลจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงก็ตาม

ทริสเรทติ้ง รายงานว่า บริษัทไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่นเป็นผู้นำในธุรกิจโรงงานสำเร็จรูปให้เช่าในประเทศโดยก่อตั้งในปี 2533 และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2545 บริษัทได้ขยายธุรกิจสู่การให้บริการคลังสินค้าให้เช่าตั้งแต่ปี 2548 โดย ณ เดือนมีนาคม 2555 บริษัทมีโรงงานให้เช่าจำนวน 122 แห่ง และมีคลังสินค้าให้เช่าจำนวน 58 แห่งซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ รวมเป็นพื้นที่ให้เช่าทั้งสิ้น 569,716 ตารางเมตร (ตร.ม.)

ในช่วงปี 2548-2553 รายได้หลักของบริษัท (65%) มาจากการขายสินทรัพย์ของบริษัทเข้ากองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ในขณะที่ 27% ของรายได้มาจากค่าเช่าโรงงานและคลังสินค้า ในระหว่างปี 2548-2553 บริษัทมีรายได้จากการขายสินทรัพย์เข้ากองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไทคอน (TFUND) และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ทีพาร์คโลจีสติคส์ (TLOGIS) ประมาณ 1,500-2,200 ล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ตาม รายได้จากการขายสินทรัพย์เข้ากองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ลดลงเหลือ 944 ล้านบาทในปี 2554 เนื่องจากผลกระทบจากอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปลายปี 2554

ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ณ เดือนพฤษภาคม 2555 ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น ยังคงเป็นบริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) (21.5%) กลุ่มผู้บริหารของบริษัท (7.3%) และกลุ่มซิตี้เรียลตี้ (6.4%) ความได้เปรียบในการแข่งขันของบริษัทมาจากผลงานการให้เช่าโรงงานสำเร็จรูปที่มีคุณภาพ รวมทั้งความสามารถในการก่อสร้างโรงงานสำเร็จรูปตามมาตรฐานในราคาที่ต่ำกว่าคู่แข่งจากการใช้ทีมงานก่อสร้างของบริษัทเอง ปัจจุบันบริษัทมีโรงงานสำเร็จรูปให้เช่ากระจายตัวในทำเลต่าง ๆ 10 แห่งและคลังสินค้าให้เช่าอีก 6 แห่ง ณ เดือนธันวาคม 2554 รายงานของ CB Richard Ellis (CBRE) ระบุว่าบริษัทยังคงเป็นผู้นำในธุรกิจโรงงานสำเร็จรูปและคลังสินค้าให้เช่าในประเทศไทย บริษัทและ TFUND มีส่วนแบ่งทางการตลาดของพื้นที่โรงงานให้เช่ารวม 64.6% ซึ่งสูงกว่าคู่แข่งรายอื่นเป็นอย่างมาก โดยคู่แข่งสำคัญประกอบด้วย บริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) (12.4%) บริษัท ปิ่นทอง อินดัสเตรียล ปาร์ค จำกัด (10.6%) บริษัท ไทยพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไทยอินดัสเตรียล 1 (6.5%) และ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) (5.9%)

แม้ว่าความต้องการเช่าโรงงานและคลังสินค้าในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยจะชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัดหลังน้ำท่วม แต่ความต้องการโรงงานในทำเลที่ไม่มีปัญหาน้ำท่วมยังคงอยู่ในระดับที่น่าพอใจ ณ ไตรมาสแรกของปี 2555 บริษัทไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่นมีพื้นที่ให้เช่ารวม 569,716 ตร.ม. คิดเป็นการเพิ่มขึ้นของพื้นที่ให้เช่าสุทธิจำนวน 12,574 ตร.ม. ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของพื้นที่ให้เช่าสุทธิประกอบด้วยการเพิ่มขึ้นของพื้นที่คลังสินค้าให้เช่า 19,649 ตร.ม. ในขณะที่พื้นที่โรงงานให้เช่าลดลง 7,075 ตร.ม. ซึ่งเป็นผลมาจากการยกเลิกสัญญาของลูกค้าในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยเป็นหลัก โดยมีลูกค้าที่ยกเลิกสัญญาจำนวน 12 รายด้วยพื้นที่เช่ารวม 27,025 ตร.ม.

สำหรับผลประกอบการในปี 2554 นั้น แม้ว่าบริษัทจะสูญเสียรายได้ค่าเช่ารวม 100 ล้านบาทจากปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่ แต่รายได้ค่าเช่ารวมของบริษัทในปี 2554 ยังคงเพิ่มขึ้น 3% เป็น 880 ล้านบาทจาก 851 ล้านบาทในปี 2553 อย่างไรก็ตาม กำไรสุทธิของบริษัทในปี 2554 ลดลงเป็น 436 ล้านบาท หรือลดลง 47% จากปี 2553 เนื่องจากความล่าช้าของแผนการขายสินทรัพย์เข้ากองทุนอสังหาริมทรัพย์ไทคอน (TFUND) จากไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 ไปเป็นปี 2555 รวมทั้งการที่บริษัทบันทึกค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้รอตัดบัญชีเพิ่มขึ้นเพื่อสะท้อนการลดลงของอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศ ขณะที่กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ลดลง 30% จาก 1,817 ล้านบาทในปี 2553 เป็น 1,269 ล้านบาทในปี 2554

ในไตรมาสแรกของปี 2555 บริษัทมีรายได้รวม 997 ล้านบาท โดยมาจากการขายสินทรัพย์เข้า TFUND จำนวน 762 ล้านบาท ด้วยอัตรากำไรขั้นต้น 49% บริษัทมีกำไรสุทธิ 241 ล้านบาท พื้นที่โรงงานให้เช่าที่ถูกน้ำท่วมส่วนใหญ่ของบริษัทได้รับการซ่อมแซมและส่งมอบให้กับลูกค้า ในไตรมาสแรกของปี 2555 บริษัทมีรายได้ค่าเช่า 214 ล้านบาท ซึ่งเท่ากับไตรมาสเดียวกันของปี 2553 แต่เพิ่มขึ้น 22% เมื่อเทียบกับไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 อย่างไรก็ตาม คาดว่ารายได้ค่าเช่าของบริษัทจะกลับสู่ภาวะปกติในครึ่งปีหลังของ 2555

ภาระหนี้รวมของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 6,176 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2553 เป็น 9,499 ล้านบาท ณ เดือนมีนาคม 2555 เนื่องจากความล่าช้าของการขายสินทรัพย์เข้ากองทุนเพื่อใช้เป็นเงินทุนในการขยายกิจการของบริษัท ขณะที่อัตราส่วนหนี้สินต่อโครงสร้างเงินทุนเพิ่มขึ้นจาก 52.5% ณ สิ้นปี 2553 เป็น 61.4% ณ เดือนมีนาคมปี 2555 อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนหนี้สินต่อโครงสร้างเงินทุนดังกล่าวคาดว่าจะดีขึ้นถ้าบริษัทสามารถขายสินทรัพย์มูลค่าประมาณ 3,500 ล้านบาทเข้ากองทุนและประสบความสำเร็จในการเพิ่มทุนในครึ่งปีหลังของปี 2555


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ