นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล(PTTGC) และ บมจ.ไออาร์พีซี(IRPC) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการทั้ง 2 บริษัทหารือทบทวนเรื่องการเก็บสำรองวัตถุดิบเพื่อป้องกันปัญหาเรื่องขาดทุนจากการสต๊อกสินค้า หลังจากสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยทั้ง 2 บริษัทจะปรับลดปริมาณการสำรองลงจากเดิม แต่ยังเป็นไปตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้
ทั้งนี้ เพื่อลดปัญหาการขาดทุนสินค้าคงคลัง จากเดิมที่ในช่วงต้นปีแต่ละบริษัทจะมีสต็อกวัตถุดิบ โดยเฉพาะน้ำมันดิบในปริมาณสูง เพราะมีการคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันจะพุ่งสูงขึ้นอีกจากต้นปีราคาน้ำมันสูงกว่า 100 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่ขณะนี้ราคาลดลงอยู่ที่ 80-90 ดอลลาร์/บาร์เรล อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นว่า การดำเนินการของบริษัทในกลุ่ม ปตท.ในปีนี้คงไม่เกิดปัญหาขาดทุนสต็อกเหมือนวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในปี 52 เพราะทุกบริษัทมีการเตรียมพร้อมในการบริหารความเสี่ยงทุกด้านเป็นอย่างดี
นายประเสริฐ กล่าวด้วยว่า ราคาน้ำมันขณะนี้มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยประเมินราคาน้ำมันเป็น 3 ระดับ จากปัจจัยวิกฤติเศรษฐกิจกรีซ โดยหากกรีซยังอยู่ในระบบเศรษฐกิจของอียู ราคาน้ำมันจะอยู่ที่ 80-90 ดอลลาร์/บาร์เรล ,หากกรีซออกจากอียูแต่อียูไม่ล่มสลาย ราคาจะอยู่ที่ 70 ดอลลาร์/บาร์เรล, หากกรีซออกจากอียูและอียูล่มสลาย ราคาน้ำมันจะอยู่ที่ 50-60 ดอลลาร์/ต่อบาร์เรล แต่เชื่อว่าคงไม่เกิดขึ้น ดังนั้น จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่รัฐบาลจะปรับโครงสร้างพลังงานและเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อลดภาวะการขาดทุนของกองทุนน้ำมันฯ ที่ยังติดลบอยู่กว่า 2 หมื่นล้านบาท และหลังจากกองทุนน้ำมันฯ เป็นบวกให้กลับมาทยอยเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลคืน เพราะราคาน้ำมันจะอยู่ระดับต่ำไปอีกนาน
นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการทั้ง 2 บริษัท ยังมอบนโยบายให้ฝ่ายบริหารไปพิจารณาทบทวนเรื่องการลงทุน โดยให้พิจารณาถึงความสำคัญและความจำเป็นเป็นเบื้องต้น ชะลอโครงการที่ไม่จำเป็นออกไปก่อน แต่หากโครงการใดยังมีความจำเป็นก็ให้เดินหน้าต่อไป
ด้านนายโชติชัย สุวรรณาภรณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่นโยบายและเศรษฐกิจพลังงาน บมจ.ปตท.(PTT) กล่าวว่า แม้จะมีการประชุมผู้นำอียูในวันนี้ แต่คาดว่ายังไม่มีมาตรการชัดเจนในการแก้ไขปัญหา และตลาดยังคาดการณ์ว่าวิกฤติหนี้อียูยังไม่ถึงจุดต่ำสุด นับจากนี้ปัญหาจะยังมีอย่างต่อเนื่อง และน่าจะไปถึงจุดต่ำสุดภายในเดือนก.ย.นี้
เช่นเดียวกับราคาน้ำมันที่จะมีโอกาสลดต่ำกว่านี้และถึงจุดต่ำสุดในเดือนก.ย. น้ำมันดิบดูไบจะอยู่ที่ 80-85 ดอลลาร์/บาร์เรล จากขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 91 ดอลลาร์/บาร์เรล และไตรมาส 4 ราคาน้ำมันจะปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงฤดูหนาวมีความต้องการน้ำมันเพื่อความอบอุ่น ประกอบกับต้นทุนการผลิตน้ำมันสูงกว่าในอดีต และปริมาณการผลิตน้ำมันของโลกยังมีอยู่อย่างจำกัด ขณะที่ความไม่สงบในประเทศผู้ผลิตน้ำมันหลายแห่ง จึงทำให้ราคาน้ำมันในไตรมาส 4 จะเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยปีนี้อยู่ที่ 95 ดอลลาร์/บาร์เรล และหากการแก้ไขปัญหาหนี้ยุโรป สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน คาดว่าปีหน้าราคาน้ำมันดิบจะกลับมามีราคา 100-110 ดอลลาร์/บาร์เรล