ทริสฯ คงอันดับเครดิตองค์กร LALIN ที่ระดับ "BBB/Positive"

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday June 28, 2012 18:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ. ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ (LALIN) ที่ระดับ “BBB" ด้วยแนวโน้ม “Positive" หรือ “บวก"

อันดับเครดิตสะท้อนความสามารถของบริษัทในการควบคุมต้นทุนค่าก่อสร้าง การบริหารการเงินที่รอบคอบ และผลงานที่เป็นที่ยอมรับในตลาดบ้านจัดสรรสำหรับผู้มีรายได้ปานกลางถึงต่ำ โดยอันดับเครดิตมีข้อจำกัดจากการเป็นบริษัทขนาดเล็กเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการรายอื่นๆที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตเช่นกัน ตลอดจนลักษณะของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นวงจรขึ้นลง และต้นทุนค่าก่อสร้างที่ปรับตัวสูงขึ้นซึ่งเป็นผลจากราคาวัสดุก่อสร้างและค่าจ้างขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้น

ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Positive" หรือ “บวก" สะท้อนถึงความคาดหวังว่าบริษัทจะสามารถปรับปรุงผลการดำเนินงานให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะสั้นถึงปานกลาง

ทั้งนี้ อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากบริษัทสามารถเพิ่มฐานรายได้และรักษาอัตราผลกำไรไว้ในระดับที่เป็นอยู่ บริษัทจะต้องดำรงอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนให้อยู่ในระดับต่ำเอาไว้ด้วยแม้จะมีแผนลงทุนมากขึ้นในอนาคต ในทางตรงข้าม หากผลการดำเนินงานของบริษัทถดถอยลงจากระดับที่เป็นอยู่ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ต้องมีการปรับลดอันดับเครดิตหรือแนวโน้มอันดับเครดิตลง

ทริสเรทติ้งรายงานว่า LALIN ก่อตั้งในปี 2531 และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในเดือนพฤศจิกายน 2545 นายทวีศักดิ์ วัชรรัคคาวงศ์และนายไชยยันต์ ชาครกุลเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทในสัดส่วนรวมกัน ณ สิ้นเดือนเมษายน 2555 จำนวน 63% บริษัทเน้นการพัฒนาที่อยู่อาศัยแนวราบประเภทบ้านเดี่ยว บ้านแฝด และทาวน์เฮ้าส์ โดยมีราคาเฉลี่ยหลังละ 2.7 ล้านบาทในปี 2554 ส่วนราคาขายเฉลี่ยของคอนโดมิเนียมอยู่ที่ 2.3 ล้านบาทต่อยูนิต

ในปี 2554 รายได้จากการขายบ้านเดี่ยวยังคงเป็นรายได้หลักของบริษัทซึ่งคิดเป็นประมาณ 57% ของรายได้รวม ส่วนรายได้จากบ้านแฝดและทาวน์เฮ้าส์คิดเป็นประมาณ 22% และ 23% ตามลำดับ ทั้งนี้ ความสามารถในการควบคุมต้นทุนค่าก่อสร้างทำให้บริษัทมีความได้เปรียบในการเสนอราคาขายบ้านในระดับที่ไม่แพง ในขณะเดียวกันก็ยังมีอัตรากำไรที่ดี

ในปี 2554 บริษัทมียอดขายเพิ่มขึ้นอย่างมากถึง 2,200 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้น 25% จาก 1,754 ล้านบาทในปี 2553 ทั้งนี้ การออกสินค้าในโครงการใหม่และยอดขายที่ดีขึ้นในโครงการเดิมบางโครงการช่วยเพิ่มยอดขายและรายได้ของบริษัทในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา รายได้รวมของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 1,693 ล้านบาทในปี 2553 เป็น 1,861 ล้านบาทในปี 2554

อย่างไรก็ตาม รายได้ในไตรมาสแรกของปี 2555 ลดลงมาอยู่ที่ 320 ล้านบาท โดยลดลง 9% จากช่วงเดียวกันของปี 2554 การลดลงของรายได้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะได้รับผลกระทบจากวิกฤติอุทกภัยครั้งใหญ่ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2554

แม้ว่ารายได้จะลดลง แต่มูลค่ายอดขายในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2555 ยังอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ที่ประมาณ 664 ล้านบาท นอกจากนี้ อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทยังคงอยู่ในระดับสูงที่ระดับ 39%-40% ของยอดขายในช่วงปี 2553 มาจนถึงไตรมาสแรกของปี 2555 ในขณะที่อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานอยู่ที่ 24.58% ในปี 2554 ลดลงจาก 27.29% ในปี 2553 เนื่องจากการสิ้นสุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล

ทั้งนี้ ภาระหนี้ที่สูงขึ้นจากการขยายโครงการที่มากขึ้นมีผลบั่นทอนความเข้มแข็งของกระแสเงินสดของบริษัท ทำให้อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมลดลงเป็น 41.49% ในปี 2554 จากระดับ 61.61% ในปี 2553 บริษัทยังคงมีฐานะการเงินที่คล่องตัวในระดับที่ยอมรับได้เนื่องจากมีวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้จำนวน 1,040 ล้านบาทและมีอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนในระดับต่ำที่ 16.78% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2555

LALIN มีโครงการ 4 แห่งที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากน้ำท่วมครั้งใหญ่ โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2555 มูลค่าเหลือขายของทั้ง 4 โครงการอยู่ที่ 1,083 ล้านบาท หรือคิดเป็น 12% ของมูลค่าเหลือขายทั้งหมดจากทุกโครงการ บริษัทได้บันทึกค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับน้ำท่วม 10 ล้านบาทในไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 ในขณะที่อีก 10 ล้านบาทถูกบันทึกเป็นต้นทุนค่าก่อสร้างบ้าน

โดยยอดขายของโครงการที่ถูกน้ำท่วมมาก่อนหน้านี้เริ่มฟื้นตัวในไตรมาสแรกของปี 2555 แต่ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำเมื่อเทียบกับในช่วงก่อนภาวะน้ำท่วม ซึ่งผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลายรายโดยเฉพาะรายที่เน้นพัฒนาโครงการแนวราบมีรายได้และกำไรในไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 ลดลงอย่างมาก

ทั้งนี้ นโยบายสนับสนุนด้านภาษีและสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยปลอดดอกเบี้ยของรัฐบาลอาจไม่มีผลในการกระตุ้นความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยอย่างมีนัยสำคัญในช่วงไตรมาสต่อ ๆ ไปเนื่องจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคถดถอย นอกจากนี้ อุตสาหกรรมยังคงมีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก รวมถึงแรงกดดันด้านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเมื่อนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาลมีผลบังคับใช้ และภาระหนี้ของผู้ประกอบการที่คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไปอีกระยะหนึ่ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ