CIMBT คาด ดบ.นโยบายทรงตัว 3% ถึงสิ้นปี ทำแบงก์ระดมเงินฝากดุเดือด

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday July 2, 2012 17:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุธีร์ โล้วโสภณกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ธนาคารซีไอเอ็มบี(ไทย)(CIMBT)มองว่า ทิศทางดอกเบี้ยนโยบายในช่วงครึ่งปีหลังยังจะทรงตัวที่ 3% เนื่องจากแรงกดดันต่อเงินเฟ้อลดลงจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับลดลง แต่ยังมีปัจจัยลบที่ต้องระวัง คือ ปัญหาหนี้สินยุโรปที่แม้จะมีข่าวดีหลังกลุ่มยูโรโซนจะออกมาตรการแก้ปัญหา มองว่าปัญหายุโรปยังต้องใช้แนวทางความร่วมมือแก้ปัญหากันในหลายเรื่อง เช่น ธนาคารกลางยุโรปแต่ละประเทศที่จะมีบทบาทการกำกับดูแลสถาบันการเงิน ซึ่งคงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะตกลงร่วมกันได้ รวมถึงการวางนโยบายการคลังที่ต้องสอดคล้องกัน

"ยังมีเรื่องน่าห่วงคือแรงกดดันเงินเฟ้อจากค่าแรงที่ปรับเพิ่มขึ้น แต่ราคาน้ำมันที่ลดต่ำลงได้ช่วยลดแรงกดดันนี้ไปบ้าง...ปัญหายุโรปแม้จะมีความคืบหน้าแก้ปัญหาแต่ยังต้องระวังต่อไปอย่างน้อย 6 เดือน ทำให้ตลาดยังมีความผันผวนอยู่"นายสุธีร์ กล่าว

ทั้งนี้ ประเมินว่าจากปัญหาหนี้สินยุโรปจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย ทั้งในแง่การทำให้การค้ากับยุโรปชะลอตัวลง รวมถึงความไม่มั่นใจต่อการชำระเงิน ซึ่งส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย แต่รัฐบาลได้วางนโยบายทางการเงิน และการคลัง ต้องให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และยังมีปัจจัยบวกจากการการขยายตัวที่ดีของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น จีน ที่ขยายตัว 7-8%

นายสุธีร์ กล่าวต่ออีกว่า ในปีนี้จะเห็นธนาคารพาณิชย์ลดการระดมเงิน โดยการออกตั๋วแลกเงิน(B/E) เนื่องจากธนาคารมีค่าใช้จ่ายนำส่งที่สูงขึ้น ซึ่งในระบบพบว่าสัดส่วนการออกบีอีลดลงต่อเนื่องจากสิ้นปี 54 อยุ่ที่ 19.9% ขณะนี้เหลือ 13.6% คาดว่าสิ้นปีจะเหลือต่ำกว่า 5-10% โดยธนาคารพาณิชย์จะเปลี่ยนมาออกตั๋วหุ้นกู้ระยะสั้นและระยะยาวแทน ช่วงครึ่งแรกปี 55 มีธนาคารพาณิชย์ออกหุ้นกู้ระยะยาวกว่า 9.1 หมื่นล้านบาท ขณะที่ทั้งตลาดมีการออกหุ้นกู้รวม 2.73 แสนล้านบาทจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ออกหุ้นกู้ 1.35 แสนล้านบาท และจนถึงสิ้นปีนี้คาดว่าตลาดจะมีการออกหุ้นกู้รวมกว่า 4 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ การแข่งขันด้านการระดมเงินฝากจะยังมีมากขึ้น ทั้งการแข่งขันด้านราคา กลยุทธ์ และประเภทของเงินฝากที่หลากหลายขึ้น เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ต่างเร่งระดมเงินฝาก ตามแนวโน้มการขยายตัวของสินเชื่อ อย่างไรก็ตาม การแข่งขันระดมเงินฝากจะไม่ทำให้ NIM ของระบบธนาคารพาณิชย์ปีนี้ลดลงจากปีก่อน เนื่องจากธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งจะสามารถบริหารจัดการต้นทุนได้ มีการออกผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย และต้นทุนที่ไม่สูงเกินไป และหันมาเจาะกลุ่มลูกค้ามากขึ้น เช่น กลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอี consumer loan ขึ้นอยู่กับการปรับพอร์ตสินเชื่อ และอาจหารายได้อื่นชดเชย เช่น รายได้ค่าธรรมเนียม


แท็ก (CIMBT)   ยุโรป  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ