นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เศรษฐกิจ เพื่อหาแนวทางรับมือวิกฤตเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศยุโรปว่า มาตรการหนึ่งที่สำคัญคือการเร่งเปิดใช้สนามบินดอนเมืองเต็มที่เร็วขึ้นเป็นวันที่ 1 ส.ค.55 จากเดิมที่กำหนดในวันที่ 1 ต.ค.55 เพื่อสนับสนุนด้านการท่องเที่ยว
ขณะเดียวกันก็จะดูแลค่าเงินบาทเพื่อให้ผู้ส่งออกสามารถแข่งขันได้ ซึ่งปัจจุบันค่าเงินบาทยังมีเสถียรภาพ และไม่ได้เป็นปัจจัยกดดันอัตราเงินเฟ้อของประเทศ
"ด้านท่องเที่ยว จะมีการเร่งเปิดสนามบินดอนเมืองจากกำหนดการ 1 ต.ค. มาเป็น 1 ส.ค. มั่นใจว่าการให้บริการนักท่องเที่ยวจะมีการเข้าถึงมากขึ้น จากการเปิด 2 สนามบิน ซึ่งจะให้เป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศ"นายกิตติรัตน์ กล่าว
พร้อมทั้งระบุว่า"จากตัวเลขการส่งออกไปยุโรปในขณะนี้ ตัวเลขโดยรวมไม่ตกลงมา เพียงแต่ได้เห็นสัญญาณว่าอาจมีผลกระทบ จึงจำเป็นต้องหามาตรการในการช่วยเหลือ"
นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า แนวทางดังกล่าวเป็นผลการหารือของ ครม.เศรษฐกิจ โดยมีข้อสรุปวิธีรับมือในการเน้นรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนที่จะต้องรักษาให้มีความมั่นคง ซึ่งในขณะนี้ค่าเงินบาทก็อ่อนตัวมาระดับหนึ่ง ซึ่งช่วยในเรื่องการส่งออกได้ดีขึ้น รวมทั้งเสถียรภาพอัตราดอกเบี้ย, เสถียรภาพการดูแลอัตราการว่างงาน และเสถียรภาพราคาพลังงาน
ทั้งนี้ รัฐบาลเชื่อมั่นว่าในด้านเสถียรภาพด้านพลังงานนั้น ขณะนี้ยังสามารถดูแลราคาน้ำมันขายปลีกไว้ได้ ซึ่งการติดลบของกองทุนน้ำมันก็ลดน้อยลงมาเหลือที่ระดับ 1.6 หมื่นล้านบาท จากเดิมอยู่ในระดับสูงถึง 3 หมื่นกว่าล้านบาท ซึ่งจะมีผลไปถึงเสถียรภาพเรื่องราคาสินค้าทั่วไป ซึ่งในขณะนี้ระดับเงินฟ้อทั่วไปยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี
นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า การทำงานของภาครัฐในการใช้จ่ายภาครัฐทั้งงบประจำและงบลงทุน มั่นใจว่าในปีนี้จะเป็นไปตามเป้าและทำได้ดีกว่าปีที่ผ่านมา ขณะที่การดูแลตลาดส่งออกนั้น รัฐบาลจะเน้นเป้าหมายตลาดส่งออกไปยังกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออก ตะวันออกกลาง และในกลุ่มอเมริกาเหนือ ซึ่งมั่นใจว่าการส่งออกจะไม่ได้รับกระทบจากปัญหายุโรปมากนัก
ด้านอัตราการว่างงานในขณะนี้ยังอยู่ในระดับที่ต่ำ แต่ยังมีปัญหาในเรื่องทักษะแรงงาน ที่ยังไม่ตรงกับความต้องการของแรงงาน จึงได้มอบให้ทางกระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงศึกษาธิการ ไปเร่งพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน
นายกิตติรัตน์ กล่าวถึงการดูแลภาคอุตสาหกรรมในรายอุตสาหกรรมและรายสินค้าว่า ที่ประชุมมีการหารือว่ายังมี 3 สินค้าสำคัญที่อาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลก คือ สิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม, เครื่องประดับ และ อิเลคทรอนิคส์ จึงมอบหมายให้กระทรวงการคลังหาแนวทางดูแลทั้ง 3 กลุ่มสินค้า โดยสถาบันการเงินภายใต้การกำกับของกระทรวงการคลังพร้อมดูแลสินเชื่อหรือประกันการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศเป้าหมาย เช่น EXIM BANK พร้อมปล่อยสินเชื่อในวงเงิน 1 แสนล้านบาท และวงเงินค้ำประกัน 4 หมื่นล้านบาท
ด้านเกษตรนั้น ยอมรับว่าราคายางพาราที่ปรับตัวลดลงมามากนั้น เป็นการปรับตัวที่สอดคล้องกับการปรับตัวของราคาน้ำมันในตลาดโลก โดยรัฐบาลจะเร่งหาแนวทางในการศึกษาร่วมกับ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม เพื่อให้ราคายางอยู่ในระดับที่ดีที่สุด
นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า บรรยากาศทางการเมืองถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างหนึ่งเพราะหากเป็นไปด้วยความสงบ ในมุมการทำงานด้านเศรษฐกิจก็จะง่ายขึ้น ซึ่งต่างชาติก็จับตาดูประเทศไทยในเรื่องสถานการณ์ทางการเมืองอยู่ หากภายในปีนี้ไม่มีเหตุการณ์รุนแรงหรือภัยพิบัติเกิดขึ้น ก็มั่นใจว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในประเทศสูงขึ้นจากปีก่อนอย่างมีนัยสำคัญ
ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้รับทราบการวิเคราะห์ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจในยุโรป ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยพบว่าอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ได้รับผลกระทบทางอ้อมมากกว่าผลกระทบทางตรง จึงเร่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาข้อจำกัดทางด้านอุปทานโดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า โดยการส่งเสริมภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือในคุณภาพและมาตรฐานของสินค้าส่งออกของไทย และการผลักดันการส่งออกไปตลาดศักยภาพอื่นๆ เป็นต้น
นอกจากนี้ ครม.เศรษฐกิจยังมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกันบูรณาการแผนการพัฒนากำลังแรงงาน เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคการผลิต รวมทั้งเรื่องการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน
ขณะเดียวกัน ครม.เศรษฐกิจ ยังมอบหมายให้คณะทำงานแก้ไขปัญหาและผลักดันการส่งออกรายสินค้า แก้ปัญาหาราคายางพาราตกต่ำ ให้กระทรวงพลังงานติดตามสถานการณ์พลังงาน และรณรงค์ด้านการประหยัดพลังงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับสถานการณ์ขาดแคลนพลังงานที่อาจเกิดขึ้นในกรณีที่สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิหร่าน-ยุโรปทวีความรุนแรง ครม.เศรษฐกิจ ยังให้ติดตามการแก้ไขปัญหาของ SMEs อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลไกการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การ matching SMEs และการให้สินเชื่อแก่ SMEs รวมทั้งมอบหมายคณะทำงานร่วมระหว่าง สศช., กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย ปรับปรุงข้อมูลและตัวชี้วัดใน Template ให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น โดยประสานกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณามิติความสัมพันธ์สอดคล้องกันระหว่างตัวแปรข้อมูลของหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อทำให้การวิเคราะห์ข้อมูลและตัวแปรสะท้อนภาพของผลกระทบที่ชัดเจนยิ่งขึ้น