สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ประจำสัปดาห์ (2 — 6 กรกฎาคม 2555) ปริมาณการซื้อขายตราสารหนี้มีมูลค่ารวม 405,578 ล้านบาท หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ 81,116 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้านี้ประมาณ 2% ทั้งนี้เมื่อแยกตามประเภทของตราสารแล้วจะพบว่ากว่า 77% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด หรือประมาณ 310,662 ล้านบาท เป็นการซื้อขายในตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (State Agency Bond) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นตราสารที่มีอายุคงเหลือค่อนข้างน้อย (ไม่เกิน 6 เดือน) ในขณะที่พันธบัตรรัฐบาลที่ออกโดยกระทรวงการคลัง (Government Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 75,301 ล้านบาท และหุ้นกู้ที่ออกโดยภาคเอกชน (Corporate Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 4,617 ล้านบาท หรือคิดเป็น 19% และ 1% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ตามลำดับ
สำหรับพันธบัตรรัฐบาล รุ่นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือรุ่น LB193A (อายุ 6.6 ปี) LB15DA (อายุ 3.5 ปี) และ LB21DA (อายุ 9.4 ปี) มีมูลค่าการซื้อขายในแต่ละรุ่นเท่ากับ 13,849 ล้านบาท 12,544 ล้านบาท และ 9,602 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนพันธบัตรที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย รุ่นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงสุด 3 อันดับแรก คือรุ่น CB12724A (อายุ 14 วัน) CB13502A (อายุ 1 ปี) และ CB12803A (อายุ 29 วัน) มูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 57,539 ล้านบาท 34,566 ล้านบาท และ 31,622 ล้านบาท ตามลำดับ
ทางด้านหุ้นกู้ภาคเอกชน ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกนั้น ได้แก่ หุ้นกู้ของบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (TOP273A (AA-)) มูลค่าการซื้อขาย 630 ล้านบาท หุ้นกู้ของบริษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (TLT12DA (AAA)) มูลค่าการซื้อขาย 504 ล้านบาท และ หุ้นกู้ของบริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) (MBK137A (A)) มูลค่าการซื้อขาย 388 ล้านบาท
เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve) ปรับตัวเพิ่มขึ้นในตราสารระยะสั้น แต่กลับปรับตัวลดลงในตราสารระยะยาว โดยอัตราผลตอบแทนของตราสารอายุระหว่าง 1 เดือนถึง 3 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ในช่วงประมาณ +1 ถึง +4 Basis Point (100 Basis point มีค่าเท่ากับ 1%) ในขณะที่อัตราผลตอบแทนของตราสารอายุตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ปรับตัวลดลงอยู่ในช่วงประมาณ -3 ถึง -9 Basis Point ทั้งนี้ภาพรวมของตลาดตราสารหนี้ไทยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมายังค่อนข้างนิ่ง โดยในช่วงต้นสัปดาห์ ถึงแม้บรรยากาศการลงทุนจะเริ่มกลับมาปรับตัวดีขึ้น หลังผลการประชุม EU Summit ที่มีความชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับมาตรการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศสมาชิกในกลุ่มยูโรโซน แต่ทั้งนี้นักลงทุนบางส่วนยังคงชะลอการลงทุนและเน้นซื้อขายในตราสารอายุสั้นๆ เป็นหลัก เพื่อรอผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในช่วงปลายสัปดาห์ (5 ก.ค.)
ขณะที่ในช่วงปลายสัปดาห์ พบว่าเส้น Yield Curve ปรับตัวลดลงโดยเฉพาะในช่วงของตราสารที่มีอายุคงเหลือค่อนข้างยาว หลังจากที่ ECB ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 25 bps อันเนื่องมาจากความเสี่ยงของเศรษฐกิจในกลุ่มยูโรโซน ที่มีสัญญาณว่ากำลังอยู่ในช่วงขาลง ประกอบกับข่าวการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเป็นครั้งที่ 2 ของธนาคารกลางจีน ทำให้นักลงทุนมองว่าทิศทางของอัตราดอกเบี้ยนับจากนี้ไปน่าจะเริ่มมีการปรับตัวลดลง จึงมีผลทำให้เกิดแรงซื้อเข้ามาในตราสารระยะยาวค่อนข้างมาก นอกจากนี้แล้ว ผลการประมูลพันธบัตรอายุ 20 ปี (LB326A) ในช่วงกลางสัปดาห์ยังได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นอย่างสูง (BCR = 3.56 เท่า) ทั้งหมดนี้จึงส่งผลให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรระยะยาวปรับตัวลดลง
ทั้งนี้ ในสัปดาห์ที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสุทธิในตลาดตราสารหนี้ไทยกว่า 20,820 ล้านบาท และในมูลค่าการซื้อสุทธิทั้งหมดนี้ เป็นการซื้อสุทธิในตราสารระยะยาว (มีอายุคงเหลือมากกว่า 1 ปี) ประมาณ 8,157 ล้านบาท ทางด้านนักลงทุนรายย่อย (Individual) ที่ถึงแม้จะมีมูลค่าการซื้อขายค่อนข้างน้อย แต่ในสัปดาห์นี้ยังคงมียอดซื้อสุทธิ ประมาณ 361 ล้านบาท