กสทช.เปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเกณฑ์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทมือถือ 25 ก.ค.

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday July 11, 2012 16:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกฎหมาย ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการบูรณาการและปรับปรุงกฎหมายและระเบียบด้านโทรคมนาคม เปิดเผยว่า สำนักงานฯจะมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเกี่ยวกับร่างระเบียบกสทช.ว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมและผู้ร้องเรียน ในวันที่ 25 ก.ค.นี้เวลา 8.30-13.30 น. ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นในครั้งนี้ไม่น้อยกว่า 400 คน

หลังจากสำนักงานกสทช.ได้ดำเนินการตามมติเห็นชอบของบอร์ดกสทช.ด้วยการนำลงประกาศในเว็ปไซต์ www.nbtc.go.th ตั้งแต่วันที่ 9 ก.ค.55 เพื่อเชิญชวนผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนทั่วไปร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่างระเบียบดังกล่าว ด้วยการกรอกแบบแสดงความคิดเห็นตามภาคผนวกและส่งความคิดเห็นทาง โทรสาร 02-278-3355 กลุ่มงานกฎหมายโทรคมนาคม สำนักงาน กสทช. ภายในวันที่ 9 สิงหาคม 2555 ก่อนจะจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ

ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจากกฎหมายกำหนดให้ กสทช.ต้องพิจารณาเรื่องร้องเรียนที่ผู้บริโภคร้องเรียนผู้ประกอบการและให้คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม พิจารณาให้ความเห็นเรื่องร้องเรียนดังกล่าวก่อนเสนอความเห็นมายังบอร์ดกทค.ซึ่งที่ผ่านมามีเรื่องร้องเรียนเป็นจำนวนมาก และนับวันก็จะมีมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีการประมูลคลื่นความถี่ 3G แล้วมีการให้บริการมากขึ้น จำนวนเรื่องร้องเรียนก็จะมีมากขึ้นตามลำดับ จากการพิจารณาเรื่องร้องเรียนมีลักษณะเป็นคอขวด เช่น ในปัจจุบันก็จะเกิดปัญหาการพิจารณาล่าช้า จึงจำเป็นต้องหาแนวทางในการระงับข้อพิพาททางเลือก ด้วยวิธีการไกล่เกลี่ยเพื่อบริหารจัดการเรื่องร้องเรียนให้เกิดความรวดเร็วมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภค

กรรมการ กสทช.กล่าวด้วยว่า ประโยชน์และข้อดีของการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ก็คือ 1.สะดวก เนื่องจากการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเป็นวิธีการระงับข้อพิพาทที่ไม่มีแบบพิธีมากนัก ค่อนข้างยืดหยุ่นและเป็นมิตรกันมากกว่าการพิจารณาคดีในศาล 2. มีความรวดเร็ว เนื่องจากการไกล่เกลี่ยใช้เวลาในการดำเนินการไม่นานนักก็สามารถที่จะทราบได้ว่าคู่กรณีตกลงได้หรือไม่ หากตกลงได้ก็จะทำให้ข้อพิพาทเสร็จสิ้นไปได้โดยเร็ว ถ้าไม่สามารถตกลงกันได้ คู่กรณียังสามารถใช้สิทธิของตนทางศาลตามกฎหมาย

3. ประหยัด เนื่องจากการเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย เป็นการเพิ่มทางเลือกให้คู่กรณีมากขึ้น โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม หากไกล่เกลี่ยสำเร็จจะทำให้ประหยัดทั้งค่าใช้จ่ายของคู่กรณี และค่าใช้จ่ายของสำนักงานกสทช. อีกทั้งการเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยเป็นการลดขั้นตอน และกระบวนการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตามปกติในการระงับข้อพิพาท ทำให้การไกล่เกลี่ยใช้เวลาในการดำเนินการไม่นานนัก การนำระบบไกล่เกลี่ยมาใช้ในข้อพิพาทระหว่างผู้ประกอบการกับผู้บริโภคจะทำให้สามารถยุติข้อพิพาทบางประการได้อย่างรวดเร็ว

4. รักษาสัมพันธ์ภาพระหว่างคู่กรณี เนื่องจากคู่กรณีสามารถตกลงระงับ ข้อพิพาทกันได้จะทำให้ลดข้อขัดแย้งโต้เถียงกัน ตลอดจน 5. สร้างความพึงพอใจให้แก่คู่กรณี เนื่องจากการไกล่เกลี่ยเป็นวิธีการที่ใช้เทคนิคการเจรจาต่อรองและหลักจิตวิทยา รวมทั้งหลักกฎหมายเพื่อโน้มน้าวให้คู่กรณีลดหย่อนผ่อนปรนให้แก่กันโดยไม่มีการชี้ขาดดังเช่นการพิจารณาคดีของศาล จึงไม่เกิดความรู้สึกว่ามีฝ่ายใดแพ้หรือชนะ อันทำให้เกิดความรู้สึกเสียหน้าหรือเสียศักดิ์ศรีจึงเป็นที่พอใจของคู่กรณีทั้งสองฝ่าย

6. รักษาชื่อเสียงและความลับทางธุรกิจของผู้รับใบอนุญาต เนื่องจากกระบวนการไกล่เกลี่ยดำเนินการเป็นความลับ พยานหลักฐานที่นำเสนอในชั้นไกล่เกลี่ยไม่อาจนำเปิดเผยได้ เว้นแต่คู่กรณีจะยินยอม ทำให้คู่กรณีรักษาความลับหรือชื่อเสียงทางธุรกิจที่อาจเกิดขึ้นมิให้แพร่หลายออกไป อันจะก่อให้เกิดความเสียหายทางธุรกิจได้

7. สร้างความสงบให้แก่ผู้ร้องเรียน เนื่องจากการไกล่เกลี่ยไม่ว่าจะสำเร็จหรือไม่ก็ตาม ทำให้คู่กรณีที่ทะเลาะ ไม่พูดกันหันหน้ามาเจรจากันได้ เป็นการลดความตึงเครียดระหว่างคู่กรณี 8.ลดปริมาณข้อร้องเรียนที่จะเข้าสู่การพิจารณาของ กทค. หรือ กสทช. รวมทั้งคดีที่จะขึ้นสู่การพิจารณาในชั้นศาล โดยข้อพิพาทที่สามารถตกลงกันได้ก็จะทำให้ไม่มีข้อร้องเรียนเข้าสู่การพิจารณาของ กทค. หรือ กสทช. และศาล

และ 9. การที่คู่กรณีทั้งสองฝ่ายสมัครใจเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย ไม่ทำให้กระบวนการรับเรื่องร้องเรียนตามปกติเสียไป เนื่องจากการไกล่เกลี่ยเป็นการระงับข้อพิพาททางเลือกอย่างหนึ่งที่เพิ่มเติมเข้ามา ไม่เป็นการบังคับคู่กรณีให้ต้องเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย คู่กรณีอาจเลือกใช้หรือไม่ใช้วิธีการระงับข้อพิพาทโดยการไกล่เกลี่ยก็ได้

“การนำระบบไกล่เกลี่ยมาใช้เพื่อระงับข้อพิพาทโทรศัพท์มือถือนั้น นับเป็นมิติใหม่ของกสทช.ต่อการระงับข้อพิพาทระหว่างผู้บริโภคกับผู้ให้บริการ ดังนั้นการเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างระเบียบไกล่เกลี่ยในครั้งนี้ จึงมีความสำคัญ และไม่ควรมีขบวนการใดๆเข้ามาตีรวน หรือบิดเบือนเจตนารมณ์ที่แท้จริงของร่างระเบียบฉบับนี้ เพราะหากเป็นเช่นนั้นก็เท่ากับเป็นการปิดกั้นโอกาสทางเลือกในการระงับข้อพิพาทของผู้บริโภคและผู้ประกอบการ ที่สำคัญระบบไกล่เกลี่ยนี้จะเป็นการตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคและผู้ประกอบการได้อย่างแท้จริง โดยเป็นการระงับข้อพิพาททางเลือกที่ทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการจะได้ประโยชน์ในลักษณะ win-win ด้วยกันทั้งสองฝ่าย"นายสุทธิพล กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ