นายพันธ์เทพ จำรัสโรมรัน ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ทีโอที(TOT)กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการทีโอทีวันนี้อนุมัติในหลักการในการขอทำบริการขายต่อบริการ(MVNO)โครงการ 3จี ทีโอที ในย่านความถี่ 1900 เมกะเฮิรตซ์ ให้กับบริษัท ไอ-โมบาย พลัส จำกัด ในเครือ บมจ.สามารถ คอร์ปอเรชั่น(SAMART)ผู้ทำตลาด MVNO รายเดิม ตามที่กลุ่ม SAMART ได้ยื่นร่างหลักเกณฑ์ในการใช้ความจุของปริมาณโครงข่าย(capacity)ประมาณ 40% อยู่ที่ 2.88 ล้านเลขหมาย
อย่างไรก็ตาม กลุ่ม SAMART มีความกังวลว่าทีโอทีจะไม่ขยายสถานีฐานได้ครบ 5,320 สถานีฐานตามกำหนด ซึ่งทีโอทียืนยันว่าในเดือน ต.ค.จะสามารถให้บริการ 3 จีเต็มรูปแบบตามกำหนดแน่นอน หากถึงระยะเวลาที่กำหนดแล้วทีโอทีไม่สามารถดำเนินการได้ค่อยมาว่ากันอีกครั้ง เนื่องจากสัญญา MVNO กับกลุ่ม SAMART จะทำการเซ็นได้ต่อเมื่อทีโอทีมีโครงข่ายครอบคลุม 80% ของ 5,320 สถานีฐาน คือ 4,250 สถานีฐาน SAMART พร้อมที่จะปรับปรุงการให้บริการตามโครงข่ายของทีโอที
สำหรับสัดส่วนการขอร่วม MVNO อีก 20% คาดว่าจะเป็นกลุ่ม บมจ.ล็อกซ์เลย์ (LOXLEY) ที่อยู่ระหว่างการเจรจาและทำข้อตกลงกันอยู่ โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลาไม่เกิน 1 เดือนต่อจากนี้
รูปแบบการทำ MVNO แบ่งเป็น 2 แบบ คือ แบบประกันรายได้ ในสัดส่วน 60% คือ SAMART กับ LOXLEY และ แบบทั่วไป (ไม่ประกันรายได้) 30% จากเดิม 20% ประกอบด้วย บริษัท 365 คอมมิวนิเคชั่น จำกัด บริษัท เอ็มคอนซัลท์ เอเชีย จำกัด บริษัท ไออีซี เทคโนโลยี จำกัด บริษัท อคิวเมนท์ จำกัด และบริษัท จัสมิน เทเลคอม ซิสเต็มส์ จำกัด (มหาชน) นอกจากนี้ ยังมีในกลุ่มขายปลีก 10% จากเดิม 20% โดยเน้นลูกค้าเดิมและลูกค้าองค์กร เป็นต้น
การเซ็นสัญญา MVNO กับกลุ่ม SAMART เป็นการทำสัญญา 5 ปี จากที่เสนอมา 12 ปี แต่จะต้องมีการรีวิวทุกๆ 2 ปี เพื่อดูว่าการดำเนินธุรกิจเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ โดยแผนที่ SAMART เสนอมานั้นในปีแรกจะมีลูกค้า 860,000 แสนราย และต้องจ่ายเงินให้กับทีโอทีจำนวน 156 ล้านบาท และในปีที่ 2 จะมีลูกค้า 1,810,000 ราย และต้องจ่ายเงินให้ทีโอที 476 ล้านบาท
SAMART จะต้องจ่ายรายได้ค่าใช้บริการโครงข่ายให้ทีโอที แบ่งเป็น 2 งวด ซึ่งงวดแรกจ่าย 35% ของมูลค่ารับประกันรายได้ขั้นต่ำ ภายในเดือนที่ 7 นับจากวันแรกที่เข้าสู่หลักประกันรายได้ขั้นต่ำของปีนั้น งวดที่ 2 จ่าย 65% ภายในเดือนที่ 1 ของปีถัดไปจากปีที่วางหลักประกันรายได้ขั้นต่ำ