บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศยืนยันอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดปัจจุบันของ บมจ.บัตรกรุงไทย(KTC)คงเดิมที่ระดับ “BBB+" ในขณะเดียวกันยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 10,000 ล้านบาทของบริษัทที่ระดับ “BBB+" เช่นกัน โดยแนวโน้มยังคง “Stable" หรือ “คงที่"
อันดับเครดิตสะท้อนการได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากธนาคารกรุงไทย(KTB) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ที่ถือหุ้นในบริษัทในสัดส่วน 49.45% สถานภาพทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมากในปี 2554 จากผลการดำเนินงานที่ขาดทุนค่อนข้างสูง โดยผลขาดทุนส่วนหนึ่งเกิดจากค่าใช้จ่ายพิเศษในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 ทั้งนี้ บริษัทยังคงมีพื้นฐานธุรกิจที่แข็งแกร่งในธุรกิจบัตรเครดิต อีกทั้งยอดการให้สินเชื่อส่วนบุคคลของบริษัทก็ยังมีการเติบโต
อย่างไรก็ตาม ปัญหาด้านคุณภาพสินทรัพย์ที่ถดถอยลงเรื่อย ๆ ตลอดปี 2554 และภายหลังเหตุอุทกภัยในไตรมาสสุดท้ายยังคงเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญต่อไป บริษัทได้ดำเนินมาตรการหลายประการเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในการจัดเก็บและติดตามหนี้ ทริสเรทติ้งจะติดตามการปรับปรุงคุณภาพสินทร้พย์ของบริษัทอย่างใกล้ชิดต่อไป
นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังมีข้อจำกัดจากต้นทุนทางการเงินที่ค่อนข้างสูงของบริษัท และภาวะการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น รวมถึงความเสี่ยงด้านกฎระเบียบซึ่งอาจกระทบต่อการขยายตัวของสินเชื่อและความสามารถในการทำกำไรในอนาคตของอุตสาหกรรมนี้
ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะสามารถปรับปรุงคุณภาพสินทรัพย์และกลับมามีผลประกอบการทางการเงินที่เข้มแข็งขึ้นได้ภายในปี 2555 นี้ นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่า KTB จะยังคงให้การสนับสนุนบริษัทอย่างต่อเนื่องทั้งในด้านการเงินและการดำเนินธุรกิจ
ทริสเรทติ้งรายงานว่า KTC มียอดขาดทุนสุทธิ 1,621 ล้านบาทในปี 2554 แม้ว่าการขาดทุนดังกล่าวจะทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นลดต่ำลงอย่างมากอันอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการกู้ยืมของบริษัท แต่ผลขาดทุนกว่าครึ่งไม่ได้เกิดจากผลการดำเนินงานที่แย่ลงของบริษัท กล่าวคือ บริษัทมีค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้รอตัดบัญชีจำนวน 404 ล้านบาทในปี 2554 จากการลดลงของภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 30% เหลือ 23% ในปี 2555 และเหลือ 20% ในที่สุด
นอกจากนี้ บริษัทยังได้ตัดสินใจตั้งสำรองคะแนนสะสมเพิ่มขึ้นจำนวน 838 ล้านบาทเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของการตีความมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 13 ว่าด้วย “โปรแกรมสิทธิพิเศษแก่ลูกค้า" (TFRI 13: Thailand Financial Reporting Interpretation) ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 2556 โดยมีข้อกำหนดให้ทำการปรับปรุงงบการเงินย้อนหลังด้วย ประมาณการหนี้สินสำหรับคะแนนสะสมแลกของรางวัลของบริษัทภายหลังการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นนี้สามารถรองรับอัตราการใช้คะแนนแลกของรางวัลของลูกค้าได้สูงกว่าเดิมเป็นอย่างมาก
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ยอดใช้จ่ายของลูกค้าบัตรเครดิต KTC เพิ่มขึ้นจาก 87.3 พันล้านบาทในปี 2553 เป็น 93.6 พันล้านบาทในปี 2554 ซึ่งคิดเป็นส่วนแบ่งทางการตลาด 12.2% และ 11.5% ตามลำดับ แม้ว่ายอดการใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้น แต่ยอดลูกหนี้สินเชื่อบัตรเครดิตของบริษัทกลับลดลงจาก 35.7 พันล้านบาทในปี 2553 เหลือ 33.7 พันล้านบาทในปี 2554 อันเนื่องมาจากสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นของผู้ใช้บัตรเครดิตที่ชำระเต็มจำนวน
บริษัทมีนโยบายยกเลิกบัตรที่ไม่มียอดใช้จ่ายในปี 2554 เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ทำให้จำนวนผู้ถือบัตรของบริษัทลดลงจาก 1.73 ล้านบัญชี ณ สิ้นปี 2553 เหลือ 1.62 ล้านบัญชี ณ สิ้นปี 2554 ในส่วนของธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล ยอดลูกหนี้สินเชื่อของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 11.4 พันล้านบาทในปี 2553 เป็น 12.7 พันล้านบาทในปี 2554 ซึ่งคิดเป็นส่วนแบ่งทางการตลาด 6.1% และ 6.0% ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม คุณภาพสินทรัพย์ของ KTC ถดถอยลงในปี 2554 ตั้งแต่ก่อนเหตุอุทกภัย อัตราสินเชื่อค้างชำระ (เกิน 90 วัน) เพิ่มขึ้นเป็น 5.2% ณ สิ้นปี 2554 จาก 4.0% ณ สิ้นปี 2553 ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นถึง 6.3% ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี 2555 จากผลกระทบของเหตุการณ์น้ำท่วม อัตราหนี้สูญตัดบัญชีสุทธิพุ่งสูงขึ้นถึง 10.0% ในปี 2554 จาก 6.8% ในปีก่อน ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งเกิดจากการตั้งสำรองพิเศษมูลค่า 633 ล้านบาทเพื่อรองรับอัตราสินเชื่อค้างชำระที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นจากเหตุการณ์น้ำท่วม แต่แม้ว่าจะมีการตั้งสำรองพิเศษไว้ในปี 2554 อัตราหนี้สูญตัดบัญชีสุทธิในไตรมาสแรกของปี 2555 ก็ยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 2.3% (ยังไม่ได้ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปี) บริษัทมียอดขาดทุนสุทธิ 155 ล้านบาทในไตรมาสแรกของปี 2555 โดยมีค่าใช้จ่ายหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญคิดเป็น 42% ของรายได้รวม เทียบกับ 36% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน
ในช่วงต้นปี 2555 บริษัทได้ตัดสินใจดึงงานจัดเก็บและติดตามหนี้กลับเข้ามาบริหารเองทั้งหมดโดยหวังว่าการปรับปรุงประสิทธิภาพในการจัดเก็บและติดตามหนี้จะช่วยลดอัตราสินเชื่อค้างชำระได้ นอกจากนี้ บริษัทยังเน้นให้ความสำคัญกับการจัดเก็บและติดตามหนี้ตั้งแต่ก่อนที่หนี้ปกติจะกลายเป็นหนี้เสียอีกด้วย ทริสเรทติ้งคาดหวังที่จะเห็นสัญญาณทิศทางที่ดีขึ้นในการแก้ไขปัญหาคุณภาพสินทรัพย์ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2555
จากการที่ KTC สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่หลากหลายประกอบกับการสนับสนุนทางการเงินจากธนาคารกรุงไทย ทำให้ความเสี่ยงด้านสภาพคล่องระยะสั้นมิใช่ประเด็นที่น่าเป็นห่วงมากนัก กล่าวคือ บริษัทมีเงินทุนที่ใช้สนับสนุนสภาพคล่องจากเงินกู้ที่ได้จากสถาบันการเงินหลายแห่งและจากหุ้นกู้ที่มีวันครบกำหนดชำระหนี้ในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ บริษัทยังมีวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้ใช้จากธนาคารกรุงไทย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2555 อีก 18,030 ล้านบาทด้วย
นอกจากการสนับสนุนในด้านเงินทุนแล้ว บริษัทยังสามารถใช้ประโยชน์จากเครือข่ายสาขาของธนาคารกรุงไทยที่มีอยู่ทั่วประเทศในการขยายฐานลูกค้า โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จำนวนลูกค้าบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลของบริษัทที่เพิ่มขึ้นประมาณ 20% นั้นมาจากช่องทางดังกล่าว
KTC ช้การกู้ยืมและการออกตราสารหนี้เป็นแหล่งเงินทุนหลัก ในขณะที่คู่แข่งในกลุ่มธนาคารพาณิชย์มีต้นทุนทางการเงินที่ถูกกว่าจากการมีฐานเงินฝากเป็นแหล่งเงินทุน ความเสียเปรียบด้านต้นทุนทางการเงินของบริษัทมีส่วนในการลดทอนความแข็งแกร่งทางธุรกิจไม่มากก็น้อยและทำให้ยากต่อการแข่งขันเพื่อขยายส่วนแบ่งทางการตลาด ต้นทุนทางการเงินเฉลี่ยของบริษัทในปี 2554 อยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2553 ที่ 4.9% แต่เพิ่มสูงขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 5.2% ในไตรมาสแรกของปี 2555 ข้อจำกัดด้านกฎระเบียบที่ทำให้ไม่สามารถขยายตลาดไปสู่กลุ่มลูกค้าที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า เมื่อประกอบกับสภาพการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ แล้วถือว่าเป็นปัจจัยที่จะยังคงกดดันความสามารถในการทำกำไรของบริษัทต่อไป