นางอรนุช อภิศักดิ์ศิริกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) เปิดเผยว่า ธนาคารได้ปรับเพิ่มเป้าสินเชื่อในปีนี้อีก 3-5% จากเดิมตั้งเป้า 15% เป็น 18-20% หรือสินเชื่อเติบโตเฉลี่ยเดือนละ 1% จากช่วงครึ่งปีแรกที่สินเชื่อขยายตัวถึง13.5%
แนวโน้มการดำเนินธุรกิจช่วงครึ่งปีหลังดีกว่าครึ่งปีแรก หลังจากสถานการณ์การเมืองดีขึ้น ประกอบกับ แรงกดดันเงินเฟ้อก็ไม่มี เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังเปราะบางจากสถานการณ์ยุโรป รวมถึงเศรษฐกิจจีนและอินเดียที่ชะลตัว ทำให้ราคาน้ำมันโลกยังคงทรงตัว ซึงจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดคงทรงตัวเช่นกัน ทั้งปี 55 TISCO จะรักษาส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) ที่ระดับ 3.1% ใกล้เคียงกับในไตรมาส 2/55 ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) คาดว่า สิ้นปีนี้ น่าจะทรงตัวอยู่ระดับ 1.3%
ช่วงปลายปี 55 บริษัทเตรียมออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิ วงเงิน 1 พันล้านบาท ซึ่งถือว่าภาวะดอกเบี้ยเอื้ออำนวยที่จะออกหุ้นกู้ได้ ขณะที่ภาพรวมการระดมเงินฝากในรูปตั๋วเงินระยะสั้น(บีอี)ของกลุ่ม TISCO ลดลงมาอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ต้องส่งเงินสมทบเข้าสถาบันคุ้มครองเงินฝาก โดยปัจจุบันสัดส่วนตั๋วบีอีมีไม่ถึง 50% ของเงินฝากทั้งหมด คาดว่าถึงสิ้นปีนี้ จะอยู่ระดับไม่เกิน 25% โดยผู้ฝากเงินจะห้นมาฝากเงินในลักษณะเป็นเงินฝากประจำมากขึ้น
สำหรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) กลุ่ม TISCO เห็นว่าเป็นโอกาสการขยายตลาด แต่ในช่วง 2-3 ปีนี้กลุ่มยังไม่มีแผนขยายธูรกิจไปยังต่างประเทศ แต่จะเน้นการเติบโตในประเทศเป็นหลัก โดยจะใช้ประโยชน์การเกิด AEC จากการที่ลูกค้าไปลงทุนในต่างประเทศ รวมถึงตลาดทุนที่ขยายออกไปยังต่างประเทศมากขึ้น
"หลังจากนี้ไม่แน่ หากเรามองครอบคลุมและเข้าใจ AEC ก็อาจขยายไปได้ เพราะไทยเป็นศูนย์กลางอินโดจีน หากมีระบบโลจิสติกส์และโครงสร้างภาษีที่ดีกว่านี้ จะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนมากขึ้น หากเราสนับสนุนฐานอยู่ในไทยจะขยายธุรกิจได้มากกขึ้น ทำให้เราต้องสร้างในประเทศรองรับไว้ก่อน" นางอรนุช กล่าว
ขณะที่สถานการณ์วิกฤติในยุโรป นางอรนุช มองว่าไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อธนาคาร แต่อาจจะมีผลกระทบทางอ้อม เนื่องจากเศรษฐกิจโลกเขื่อมโยงกันหมด
ส่วนการปล่อยสินเชื่อให้ บมจ.สหวิริยาสตีลอินดัสตรี (SSI) ในส่วนทิสโก้นั้น เป็นการให้สินเชื่อระยะยาววงเงิน 3 พันล้านบาท ซึ่งนางอรนุช มองว่า ขณะนี้ราคาเหล็กได้มีการปรับลดลงมากแล้ว น่าจะมีโอกาสเด้งกลับได้ ขณะที่ภาพรวม SSI ยังถือว่าไปได้ดี เพราะการโรงถลุงเหล็กที่อังกฤษได้เริ่มการผลิตและส่งมอบสินค้าให้กับบริษัทแม่ในประเทศไทยแล้ว