นายธวัชไชย สุทธิกิจพิศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารเกียรตินาคิน (KK) เปิดเผยว่า การปล่อยสินเชื่อรวมในปี 55 จะขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ที่ 21% หลังจากช่วง 6 เดือนแรกปี 55 (สิ้นสุด 30 มิถุนายน 55) สินเชื่อรวมขยายตัวเพิ่มขึ้น 13.5% เป็นยอดสินเชื่อรวมอยู่ที่ 154,062 ล้านบาท นั้น มาจากสินเชื่อเช่าซื้อเป็นหลัก
ด้านธุรกิจหลักของธนาคารคือสินเชื่อรายย่อย มียอดรวมอยู่ที่ 117,062 ล้านบาท หรือคิดเป็น 76% ของสินเชื่อรวม ในจำนวนนี้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ขยายตัวได้สูงถึงร้อยละ14.3% ได้รับปัจจัยบวกจากยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก และมาตรการรถยนต์คันแรกของรัฐบาลที่ช่วยกระตุ้นตลาดรถยนต์ให้เติบโต ขณะเดียวกัน มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมได้สิ้นสุดลง ทำให้ธนาคารกลับมารับรู้รายได้ดอกเบี้ยในส่วนของสินเชื่อเช่าซื้อในไตรมาส 2/55 ทำให้อัตราผลตอบแทนของสินเชื่อปรับตัวดีขึ้น
ส่วนสินเชื่อธุรกิจ (ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจ SMEs) มียอดรวมที่ 35,255 ล้านบาท คิดเป็น 15.6% ของสินเชื่อรวม ที่เหลือคือสินเชื่อสายบริหารหนี้ อยู่ที่ 1,427 ล้านบาท และลดระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) โดยมาอยู่ที่ 3.4% จากสิ้นปีที่ 3.5% ในส่วนของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ อยู่ที่ระดับ 4.0%
สำหรับหนี้สินรวม (เงินฝาก หุ้นกู้ ตั๋วบีอี และหนี้สินอื่นๆ) มีจำนวน 199,044 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.1% จากสิ้นปี 2554 แบ่งเป็นเงินฝาก 106,614 ล้านบาท (53.6%) ตั๋วแลกเงิน 47,450 ล้านบาท (23.8%) หุ้นกู้ 27,993 ล้านบาท (14.1%) และอื่นๆ 16,988 ล้านบาท (8.5%)
ภาพรวมการดำเนินธุรกิจใน 6 เดือนแรกของปี 55 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิรวม 1,395 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้วยสินทรัพย์รวม 223,865 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.8% จากสิ้นปี 54 ส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง คำนวณตามเกณฑ์ Basel II อยู่ที่ 14.01%
ส่วนของความคืบหน้าการร่วมกิจการและร่วมบริหารงานระหว่างธนาคารกับ บมจ.ทุนภัทร (PHATRA) นั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอผลการพิจารณาอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. และธนาคารแห่งประเทศไทย โดยคาดว่าจะทราบผลการพิจารณาอนุญาตในเดือนกรกฎาคม 55 นี้
อย่างไรก็ตาม สำหรับทิศทางเศรษฐกิจในครึ่งปีหลัง ทางฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม (Kiatnakin Intelligence: KKI) มองว่ามีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากช่วงครึ่งแรกของปี จากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน แม้การส่งออกจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรป อย่างไรก็ตาม คาดว่าวิกฤตหนี้สาธารณะยุโรปที่เริ่มคลี่คลาย ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางต่าง ๆ น่าจะเป็นปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจโลกและการส่งออกของไทยในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี
ทั้งนี้ ยังมีประเด็นที่เป็นความเสี่ยง ได้แก่ 1) เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวอย่างเปราะบาง และความผันผวนของภาคการเงินโลก อาจทำให้การส่งออกขยายตัวต่ำกว่าคาด และกระทบต่อการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อส่งออกเป็นหลัก และ 2) สภาพคล่องในระบบการเงินที่ตึงตัว ทั้งจากสินเชื่อที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นและจากแนวโน้มการระดมทุนของภาครัฐ ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์แข่งขันระดมเงินฝากและทำให้อัตราดอกเบี้ยในระบบการเงินมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นแม้ดอกเบี้ยนโยบายจะไม่ปรับขึ้นก็ตาม ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการบริโภคและลงทุนภาคเอกชนในระยะต่อไป