ทริสฯ คงเครดิตองค์กร-หุ้นกู้ CPF 1.5 หมื่นลบ.ที่ AA- แนวโน้ม Stable

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday July 18, 2012 09:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดปัจจุบันของ บมจ. เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) ที่ระดับ “AA-" พร้อมทั้งจัดอันดับเครดิตให้แก่หุ้นกู้ไม่มีประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 15,000 ล้านบาทของบริษัทที่ระดับ “AA-" เช่นกัน โดยแนวโน้มยังคง “Stable" หรือ “คงที่" บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปใช้ชำระหนี้และลงทุนตามแผน

อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะความเป็นผู้นำของบริษัทในธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร ตลอดจนการมีสินค้าและตลาดที่หลากหลาย ความสำเร็จของกลยุทธ์ที่เน้นผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมบริโภคที่มีตราสัญลักษณ์ของบริษัท และการขยายธุรกิจในต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงความผันผวนของราคาผลิตภัณฑ์ฟาร์ม ความเสี่ยงต่อการระบาดของโรค ต้นทุนวัตถุดิบธัญพืชที่สูงขึ้น และความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงอัตราภาษีนำเข้าของประเทศผู้นำเข้าสินค้า

ขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะยังคงสามารถรักษาสถานะผู้นำในธุรกิจเกษตรอาหารที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเอาไว้ได้ นอกจากนี้ การเป็นบริษัทที่มีสินค้าและตลาดที่หลากหลายน่าจะช่วยลดความเสี่ยงที่เกิดจากความผันผวนของราคาผลิตภัณฑ์ในธุรกิจฟาร์มได้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะรักษาอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนให้อยู่ในระดับประมาณ 50% ในขณะที่มีการขยายตัวเพื่อสร้างการเติบโตตามแผนงาน

ทริสเรทติ้งรายงานว่า CPF เป็นผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ณ เดือนพฤษภาคม 2555 กลุ่มบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ถือหุ้นในบริษัทในสัดส่วน 49.93% ธุรกิจของบริษัทแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่คือกลุ่มสัตว์บกและกลุ่มสัตว์น้ำ โดยแต่ละกลุ่มประกอบด้วยธุรกิจอาหารสัตว์ ธุรกิจฟาร์ม และธุรกิจอาหารพร้อมบริโภค การดำเนินธุรกิจแบบครบวงจรส่งผลให้สินค้าของบริษัทได้มาตรฐานสากลทั้งในด้านความปลอดภัยและการตรวจสอบย้อนกลับซึ่งสามารถส่งออกไปยังประเทศผู้นำเข้าที่สำคัญซึ่งได้แก่ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป เอเชีย และประเทศสหรัฐอเมริกา

ทริสเรทติ้งกล่าวว่า เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2555 บริษัทและบริษัทย่อยเสร็จสิ้นการซื้อหุ้นในสัดส่วน 76.13% ของหุ้นที่ออกและจำหน่ายได้แล้วของ C.P. Pokphand Co., Ltd. (CPP) ด้วยมูลค่าการลงทุนรวม 2,174 ล้านดอลลาร์สหรัฐ CPP เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง เป็นผู้ผลิตอาหารสัตว์ชั้นนำในประเทศจีนและเป็นผู้ประกอบการสัตว์บกและสัตว์น้ำครบวงจรในประเทศเวียดนาม

หลังการซื้อหุ้น CPP เสร็จสิ้น สัดส่วนรายได้ของ CPF มีการกระจายตัวมากขึ้น โดยไตรมาสที่ 1 ของปี 2555 รายได้จากกิจการในต่างประเทศของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของรายได้รวมจากเดิมที่มีสัดส่วน 25% ในอดีต รายได้จากกิจการในประเทศคิดเป็นสัดส่วน 51% จากเดิม 75% ในปี 2554 ธุรกิจอาหารสัตว์เป็นธุรกิจที่สร้างรายได้มากที่สุดโดยคิดเป็นสัดส่วน 52% ของรายได้รวมในไตรมาสที่ 1 ของปี 2555 รายได้จากธุรกิจฟาร์มซึ่งมีลักษณะผันผวนเหมือนสินค้าโภคภัณฑ์มีสัดส่วน 35% ของรายได้รวมจาก 43% ในปี 2554 และธุรกิจอาหารพร้อมบริโภคมีสัดส่วน 13% ของรายได้รวมจากเดิม 19% ในปี 2554

บริษัทยังคงนโยบายลดความเสี่ยงที่เกิดจากความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์และสร้างเสถียรภาพของกระแสเงินสดโดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมบริโภคที่มีตราสินค้าของบริษัทและขยายช่องทางการจัดจำหน่ายทั้งตลาดภายในประเทศและตลาดต่างประเทศ ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนรายได้จากธุรกิจอาหารพร้อมบริโภคให้เป็น 20% ของยอดขายรวมภายในปี 2559 รวมทั้งจะขยายกิจการในต่างประเทศอย่างต่อเนื่องอีกหลายแห่ง โดยมีเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วนรายได้จากกิจการในต่างประเทศเป็น 63% ของยอดขายรวมภายในปี 2559 จาก 49% ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2555

จากผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 1 ของปี 2555 ยอดขายของ CPF เติบโตถึง 60.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็น 73,480 ล้านบาท โดยปัจจัยหลักมาจากการรวมธุรกิจในจีนและเวียดนามหลังการซื้อหุ้น CPP อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในประเทศไทยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 ความต้องการบริโภคสินค้าประเภทเนื้อสัตว์ภายในประเทศลดต่ำลง ในขณะเดียวกันกับที่ตลาดผลิตภัณฑ์สัตว์บกเกิดภาวะอุปทานส่วนเกิน ส่งผลให้ราคาผลิตภัณฑ์สัตว์บกตกต่ำลง โดยเฉพาะราคาเนื้อไก่ อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทในไตรมาสที่ 1 ของปี 2555 จึงลดลงเป็น 13.6% จาก 16.1% ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2554

กำไรสุทธิไม่รวมกำไรจากการเปลี่ยนแปลงมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุน การขายเงินลงทุน และกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ระดับ 2,412 ล้านบาท ลดลง 17.8% จากไตรมาสที่ 1 ของปี 2554 อย่างไรก็ตาม กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เท่ากับ 6,344 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากฐานรายได้ที่ขยายใหญ่ขึ้นหลังการซื้อหุ้น CPP อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่าย (EBITDA Interest Coverage Ratio) เท่ากับ 5.0 เท่าในไตรมาสที่ 1 ของปี 2555

ราคาผลิตภัณฑ์สัตว์บกเริ่มฟื้นตัวในไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 การประกาศยกเลิกการห้ามนำเข้าไก่สดจากประเทศไทยของกลุ่มสหภาพยุโรปตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2555 จะช่วยลดอุปทานส่วนเกินในตลาดไก่ภายในประเทศได้ ซึ่งจะช่วยให้ราคาไก่ทยอยฟื้นตัวโดยลำดับ และคาดว่าจะช่วยเพิ่มความสามารถในการทำกำไรให้แก่บริษัทท่ามกลางแรงกดดันทางด้านต้นทุนธัญพืชที่กำลังปรับตัวขึ้น บริษัทตั้งงบลงทุนจำนวน 16,000 ล้านบาทสำหรับปี 2555 จากแผนลงทุนดังกล่าวซึ่งรวมการขยายการลงทุนในต่างประเทศคาดว่าจะทำให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทอยู่ที่ประมาณ 50% ซึ่งใกล้เคียงกับในเดือนมีนาคม 2555

เมื่อเร็วๆ นี้สหภาพยุโรปได้ออกประกาศเกณฑ์ใหม่ในการให้สิทธิพิเศษทางการค้าภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (Generalized System of Preferences -- GSP) สำหรับผลิตภัณฑ์กุ้ง โดยจะส่งผลให้ประเทศไทยหมดคุณสมบัติที่จะได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี GSP สำหรับผลิตภัณฑ์กุ้ง

ปัจจุบันผู้ส่งออกไทยเสียภาษี 4.2% สำหรับกุ้งแช่แข็ง และ 7.0% สำหรับกุ้งแปรรูปที่ส่งออกไปประเทศในสหภาพยุโรป อัตราภาษีใหม่จะเพิ่มเป็น 12% สำหรับกุ้งแช่แข็ง และ 20% สำหรับกุ้งแปรรูป โดยอัตราภาษีใหม่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 เป็นต้นไป การสิ้นสุดสิทธิพิเศษทางภาษี GSP จากสหภาพยุโรปคาดว่าจะมีผลกระทบโดยตรงต่อ CPF ไม่มากเนื่องจากในปี 2554 บริษัทส่งออกกุ้งไปสหภาพยุโรปเพียง 2% ของรายได้รวม นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนจะย้ายฐานการผลิตบางส่วนจากประเทศไทยไปยังประเทศอื่นซึ่งมีสิทธิได้รับ GSP ด้วย

อย่างไรก็ตาม การสิ้นสุดสิทธิพิเศษทางภาษีภายใต้ GSP ดังกล่าวอาจส่งผลกระทบในทางอ้อมต่อการเลี้ยงกุ้งและธุรกิจอาหารกุ้งในประเทศไทยในอนาคตอีก 2-3 ปีข้างหน้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ