ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ได้คงอันดับความน่าเชื่อถือภายในประเทศระยะยาวของบริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) (SCCC) ที่ 'A(tha)' และคงอันดับความน่าเชื่อถือระยะสั้นที่ 'F1(tha)' โดยให้แนวโน้มมีเสถียรภาพ
ในขณะเดียวกันฟิทช์คงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิของ SCCC ที่ระดับ ‘A(tha)’
อันดับเครดิตของ SCCC สะท้อนถึงสถานะความเป็นผู้นำทางการตลาดของบริษัทฯที่มีกำลังผลิตและยอดขายปูนซีเมนต์สูงเป็นอันดับที่สองในประเทศไทย และมีตราสินค้าที่แข็งแกร่งทั้งในผลิตภัณฑ์ปูนซีเมนต์ คอนกรีตผสมเสร็จ และ ผลิตภัณฑ์ทดแทนไม้ ซึ่งส่งผลให้บริษัทฯสามารถรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดได้อย่างมั่นคงที่ระดับร้อยละ 27 ตลอดช่วงสิบปีที่ผ่านมา นอกจากนี้บริษัทฯ ยังได้รับการสนับสนุนทางด้านการปฏิบัติการ และเครือข่ายทางการตลาดที่แข็งแกร่งในตลาดโลกจาก Holcim Ltd. (Holcim; ‘BBB’/Stable) หนึ่งในผู้ถือหุ้นหลักของบริษัทฯ ซึ่งช่วยส่งเสริมการส่งออกของบริษัทฯอีกด้วย
SCCC สามารถรักษาระดับอัตราส่วนหนี้สินให้อยู่ในระดับที่ต่ำเมื่อเทียบกับบริษัทฯ ที่มีอันดับเครดิตใกล้เคียงกันในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยมีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่ายและค่าเช่า (adjusted net debt to EBITDAR) อยู่ในระดับต่ำกว่าหนึ่งเท่าในช่วงปี 2547 ถึงปี 2554 กระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่งน่าจะยังคงช่วยให้อัตราส่วนหนี้สินสุทธิดังกล่าว อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าสองเท่าได้ในช่วงสองถึงสามปีข้างหน้า แม้ว่าบริษัทฯ น่าจะมีค่าใช้จ่ายลงทุนเพิ่มขึ้นและมีการจ่ายเงินปันผลอยู่ในระดับที่สูงในช่วงระยะเวลาดังกล่าวก็ตาม
อัตราการทำกำไรของบริษัทฯ มีความอ่อนไหวต่อระดับราคาพลังงานเป็นอย่างมากเนื่องจากต้นทุนเชื้อเพลิงและค่าใช้จ่ายด้านการขนส่งคิดเป็นสัดส่วนสูงกว่าร้อยละ 50 ของต้นทุนและค่าใช้จ่ายทั้งหมด นอกจากนี้ภาวะกำลังผลิตส่วนเกินในประเทศยังจำกัดการผลักภาระต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นไปยังผู้บริโภคอีกด้วย อย่างไรก็ตามมาตรการลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายของบริษัทฯ ซึ่งรวมถึง การใช้เชื้อเพลิงทดแทนเพิ่มขึ้น การประหยัดต้นทุนไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าที่นำพลังงานความร้อนส่วนเกินจากการผลิตปูนซีเมนต์มาใช้ และการเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องจักร น่าจะมีส่วนช่วยบรรเทาแรงกดดันจากต้นทุนทางด้านพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นได้บ้าง
อันดับเครดิตของ SCCC ถูกลดทอนลงจากการที่บริษัทฯมีรายได้ส่วนใหญ่จากการขายผลิตภัณฑ์ภายในประเทศ ถึงแม้ว่ารายได้จากการส่งออกสินค้าจะเพิ่มสูงขึ้น แต่กำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย จากการขายสินค้าภายในประเทศยังคงคิดเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าร้อยละ 80 ของกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่ายทั้งหมดของบริษัทฯในปี 2554 นอกจากนี้การแข่งขันที่รุนแรงในตลาดภายในประเทศซึ่งเป็นผลมาจากกำลังผลิตส่วนเกินจำนวนมากยังส่งผลให้เกิดการแข่งขันทางด้านราคาเป็นครั้งคราว ซึ่งบั่นทอนความสามารถในการทำกำไรของบริษัทฯอีกด้วย