(เพิ่มเติม) KBANK คงเป้าสินเชื่อปี 55 โต 9-11% แม้ครึ่งปีแรกโตแค่ 3.7%

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday July 19, 2012 14:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารกสิกรไทย(KBANK)คงเป้าสินเชื่อปี 55 เติบโตได้ถึง 9-11% แม้ว่าช่วงครึ่งปีแรกจะเติบโตแค่ 3.7% ส่วน NIM คาดว่าจะอยู่ในระดับ 3.5% จากครึ่งปีแรกที่ 3.6% โดยธนาคารยืนยันว่าในช่วงตั้งแต่ปีนี้ไปจนถึงปี 59 ยังไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มทุน และภายในปีนี้ยังไม่มีแผนออกหุ้นกู้เพิ่มเติม

นายสมเกียรติ ศิริชาติไชย รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย(KBANK)เปิดเผย ธนาคารยังคงเป้าสินเชื่อปี 55 เติบโต 9-11% โดยในช่วงครึ่งปีแรกสินเชื่อเติบโตแล้ว 3.7% ในขณะที่ NIM คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 3.5% และมั่นใจว่ากำไรสุทธิในปีนี้จะสุงกว่าปีก่อนอย่างแน่นอนตามการเติบของสินเชื่อ รวมถึงรายได้ค่าธรรมเนียมที่คาดว่าจะเติบโต 18% ขณะที่ค่าใช้จ่ายต่อรายได้ในปีนี้ลดลงจากปีก่อนเหลือมาอยู่ที่ 46% จากการใช้เครือของธนาคารในการดำเนินธุรกรรมต่างๆ จึงช่วยลดค่าใช้จ่ายลง

"เป้าสินเชื่อใหญ่ 9-11% เราไม่ปรับเป้า ซึ่งเรามองว่าวิกฤตยุโรปยังต้องระมัดระวัง แต่เศรษฐกิจไทยปีนี้ศูนย์วิจัยกสิกรฯคาดว่าจีดีพีเติบโตได้ 5% แม้ยังมีเรื่องวิกฤตของสหรัฐและยุโรปที่ยังน่ากังวลว่าอาจจะทำให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัว ส่งออกเราปีนี้น่าจะโตได้แค่ 10%"นายสมเกียรติ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มทุนไปจนถึงปี 59 แม้ธนาคารแห่งประเทศไทยเตรียมนำเกณฑ์บาเซิล 3 มากำกับดูแลสถาบันการเงินตั้งแต่ปี56 เป็นต้นไป เนื่องจากผลการดำเนินงานของธนาคารยังเติบโตได้ดี ทั้งการทำกำไรและระดับเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ยังแข็งแกร่ง ขณะเดียวกันธนาคารยังไม่มีความจำเป็นต้องออกหุ้นกู้เพิ่มอีก หลังล่าสุดได้มีการออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิ 2.2 หมื่นล้านบาท เพื่อเพิ่มเงินกองทุนขั้นที่ 2

ส่วนการที่ธนาคารได้รับใบอนุญาตในการจัดตั้งสำนักงานตัวแทนที่ประเทศพม่า ถือเป็นการสร้างเครือข่ายในการทำตลาดประเทศพม่า ส่วนจะมีการยกระดับตั้งเป็นสาขาหรือเป็นพันธมิตรร่วมกับสถาบันการเงินในพม่าหรือไม่นั้น ก็คงรอให้เห็นภาพชัดเจนในอีก 1-3 ปีข้างหน้า ซึ่งการทำธุรกรรมในพม่านั้นจะเป็นการสนับสนุนลูกค้าของธนาคารที่เข้าไปลงทุน เนื่องจากสินค้าไทยในพม่ามีจำนวนมากและเป็นที่นิยม โดยปัจจุบันธนาคารมีการขยายเครือข่ายในประเทศแถบอาเซียนแล้วเกือบทุกประเทศ ยกเว้นฟิลิปปินส์และบรูไน แต่ก็ยังไม่แห็นความจำเป็นต้องขยายไปในขณะนี้

ด้านนายปรีดี ดาวฉาย รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส กล่าวว่า ปัญหาวิกฤตหนี้ยุโรปขณะนี้เป็นปัจจัยที่ต้องระมัดระวัง เนื่องจากยังไม่มีข้อสรุปในการแก้ปัญหา แม้จะมีความชัดเจนขึ้นมาในระดับหนึ่ง แต่ประเมินว่าปัญหาจะยังคงยืดเยื้อไปอีกนาน โดยทางการส่งออกของไทยได้รับผลกระทบโดยตรง ขณะที่ผลกระทบทางอ้อมยังเกิดขึ้นไม่มาก

"สิ่งที่เคยค้าขายได้ดีในยุโรปจะหาตลาดฯไหนทดแทน และหากยุโรปใช้หนี้ไม่ได้จะทำอย่างไร เพราะตอนนี้ปัญหาจะเป็นลูกโซ่ แบงก์นั้นแบงก์นี้ถูก downgrade ก็เป็นความกังวล คนไม่กล้าทำอะไร วอลุ่มก็หายไป...ข่าวร้ายมีเกิดขึ้นเรื่อยๆ และเป็นเรื่องที่ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะเกิด"นายปรีดี กล่าว

จากปัญหายุโรปที่เกิดขึ้นธนาคารได้มีการทำ Stress Test ใน 3 สมมติฐาน โดยสมมติฐานที่เลวร้ายสุดคือ ถ้ายูโรโซนแตกจะส่งผลกระทบไปทั่วโลก เศรษฐกิจไทยก็คงจะชะลอตัวลงชัดเจน การดำเนินธุรกิจต่างๆคงหยุดชะงัก เกิดการว่างงานตามมา ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นธนาคารก็คงจะต้องมีการเตรียมสภาพคล่องไว้รองรับเป็นหลักแสนล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ