ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) เผยธนาคารคงเป้าหมายสินเชื่อปีนี้เติบโต 20-30% ถึงแม้ในช่วงครึ่งปีแรกจะมีการขยายตัวเพียง 3.3% ขณะที่คาดว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ในปีนี้จะอยู่ที่ 3.5% จากครึ่งปีแรกทำได้ที่ระดับ 3.2% พร้อมทั้งปีนี้คาดว่าจะมีกำไรสุทธิไม่ต่ำกว่าปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1.3 พันล้านบาท
นายสุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CIMBT กล่าวว่า มั่นใจว่าสินเชื่อในปีนี้จะเติบโตได้ตามเป้าหมายที่ 20-30% แม้ว่าในช่วงครึ่งปีแรกจะเติบโตได้เพียง 3.3% โดยประเมินจากปริมาณสินเชื่อรออนุมัติเบิกจ่ายที่มีอยู่ในมือแล้วจำนวนมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท ขณะเดียวกันจากแนวโน้มปีที่แล้วการปล่อยสินเชื่อเติบโตไม่มากในช่วงครึ่งปีแรก แต่จะมีการเร่งตัวในช่วงปลายปี
อย่างไรก็ตาม ธนาคารจะมีการปรับกลยุทธ์การปล่อยสินเชื่อ โดยจะเน้นสินเชื่อรายย่อยมากขึ้นเพื่อเพิ่มผลตอบแทน และเพื่อให้ NIM ในปีนี้มาอยู่ที่ 3.5% ตามเป้าหมาย จากครึ่งปีแรกอยู่ที่ 3.24% ขณะที่ในปีนี้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากการปรับเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงิน รวมทั้งการแข่งขันอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเพิ่มขึ้น โดยธนาคารบริหารต้นทุนเงินฝากด้วยการจะเพิ่มบัญชีกระแสรายวันต่อบัญชีออมทรัพย์(CASA)จากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 27-28% เพิ่มเป็น 30% และห้นมาเน้นสินเชื่อบุคคลและธุรกิจเช่าซื้อมากขึ้น แต่ยังคงรักษากฎเกณฑ์ในการควบคุมสินเชื่อให้มีคุณภาพเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาหนี้เสียตามมา
สำหรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL)ในช่วงครึ่งปีแรก อยูที่ 3.5% เพิ่มจากสิ้นปี 54 เนื่องจากมีลูกค้ารายใหญ่ 2-3 รายที่มีหนี้เป็นปัญหา แต่ในส่วนนี้ถือว่ามีหลักประกันคุ้มมูลหนี้คาดว่าจะได้ข้อยุติในไตรมาส 3/55 และในสิ้นปีนี้ NPL น่าจะลดเหลือมาที่ 3% พร้อมทั้งมั่นใจว่ากำไรสุทธิของธนาคารปีนี้จะอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่าปีที่แล้วที่มีกำไรสุทธิ 1.3 พันล้านบาท
ส่วนไตรมาส 2/55 ธนาคารจะมีค่าใข้จ่ายที่เกิดจากการแพ้คดีที่ต้องจ่ายเงินชดเชยกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแห่งหนึ่ง จำนวน 206 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นคดีที่ยาวนานมากกว่า 15 ปี และธนาคารได้มีการตรวจสอบคดีอื่นแล้ว เชื่อว่าไม่น่าจะเกิดคดีที่เกิดในลักษณะเดียวกันอีก
ด้านการเพิ่มทุนของธนาคาร 4.89 พันล้านหุ้น คาดจะแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือน ก.ค. นี้ ซึ่งจะทำให้ระดับความเพียงพอของเงินกองทุน(CAR)อยู่ระดับ 3.2-3.5% ส่วนเงินกองทุนขั้นที่ 1 เพิ่มเป็น 11.5% จากปัจจุบันอยูที่ 8% และเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงตามมาตรฐาน BIS จะเพิ่มจาก 12.5% เป็น 15% ซึ่งการเพิ่มทุนครั้งนี้น่าจะเพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจไปอีก 2 ปี แต่หากผลการดำเนินงานของธนาคารดีขึ้น อาจชะลอการเพิ่มทุนในระยะต่อไปได้อีก
ขณะเดียวกัน ธนาคารต้องหันมาเพิ่มสัดส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมมากขึ้น โดยในส่วนธุรกิจวาณิชธนกิจ ปัจจุบันธนารคารมีดีล M&A ในมือหลายราย ซึ่งจะมีข้อสรุปในไตรมาส 4/55 ประมาณ 3-4 ดีล ซึ่งอยู่ในธุรกิจบริการและอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศ มีขนาดสินทรัพย์รวม 2-3 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะสร้างรายได้ค่าธรรมเนียมให้ธนาคารประมาณ 200 ล้านบาท
นอกจากนั้น นายสุภัค ยังยืนยันว่า ไม่เคยได้รับการทาบทามให้เข้าสมัครรับการสรรหาเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่ของธนาคารกรุงไทย(KTB) ตามที่ปรากฏชื่อเป็นตัวเก็งในข่าว