กสทช.ลุ้นเอกชน 3-4 รายประมูล 3G, รับข้อเสนอตั้งเพดานขั้นสูง/DTAC-TRUE โอดแพงเกิน

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday July 20, 2012 16:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เวทีรับฟังความเห็นร่างหลักเกณฑ์ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz ของกสทช.ในวันนี้มีความเห็นต่างหลายด้าน ทางกสทช.มองเอกชนเข้าประมูล 3G จำนวน 3-4 รายน่าจะเหมาะสม แต่ขอกลับไปคิดดูว่าจะกำหนดเพดานขั้นสูงที่ 15 MHz ตามที่ผู้ประกอบการเสนอ ด้านบมจ.ทรูคอร์ปอเรชั่น (TRUE) และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) ชี้ราคาเริ่มต้นประมูลสูงเกินไป ขณะที่ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) กลับลำขอประมูล 15 MHz จากเดิมจะประมูล 20 MHz พร้อมร่วมเข้าประมูล 4G ส่วนบรรยากาศวันนี้กลุ่มรักแผ่นดินถือป้ายประท้วงค้านแนวคิด TDRI ให้ต่างชาติเข้าถือหุ้นบริษัทโทรคมนาคมไทย

สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications — IMT) ย่านความถี่ 2.1 กิกะเฮิร์ตซ พ.ศ.... ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications — IMT) ย่านความถี่วิทยุ 1920-1980 / 2110-2170 และ 2010-2025 MHz

พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานคณะกรรมการกิจการ กสทช. และประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) กล่าวว่า ความเห็นที่ได้จากการรับฟังวันนี้จะนำไปรวมกับความเห็นสาธารณะที่ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นในช่องทางอื่นๆ อาทิ ความเห็นจากเว็บไซต์ที่เปิดรับฟังตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย.- 28 ก.ค.นี้ ซึ่งหลังจากนั้นจะปรับปรุงร่างประกาศในเดือนส.ค.และจะลงประกาศในราชกิจานุเบกษาในเดือน ส.ค.ได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ในการกำหนดเพดานในการประมูลคลื่นความถี่ต้องไม่เกิน 20 MHz นั้น ที่เอกชนเสนอให้กำหนดเพดานขั้นสูงว่าควรเหลือ 15 MHz โดยขณะนี้จะยังไม่สามารถบอกได้ในตอนนี้ โดยหากผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นมีประเด็นโน้มน้าวที่เป็นเหตุผล โดยจะต้องไม่อิงไปรายใดรายหนึ่ง ก็สามารถรับฟังได้

นอกจากนี้ ในส่วนของร่างประกาศกสทช.เรื่องกำหนดข้อห้ามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำโดยคนต่างด้าวพ.ศ. ... ตอนนี้ส่งให้เลขา กสทช.แล้ว โดยคาดว่าจะสามารถส่งให้เลขาธิการสำนักงานนายกรัฐมนตรีได้ในสัปดาห์หน้า ทั้งนี้ หากประกาศฉบับนี้สมบูรณ์ ฉบับเดิมก็ประกาศยกเลิกทันที

ทั้งนี้ ตามกฎหมายการลงทุนโดยต่างชาติต้องลงทุนในสัดส่วน 49% ถือว่ามีการเข้ามาโดยอิงประกาศของ การประกอบธุรกิจโดยคนต่างด้าวอยู่แล้ว ซึ่งนักลงทุนมีความเข้าใจดี ดังนั้น การประมูล 3จี ครั้งนี้ กสทช.จึงไมจำเป็นต้องโรดโชว์เพื่อเรียกร้องให้ต่างชาติเพราะต่างชาติเองจะรับรู้ถึงสัดส่วน และสิทธิของตนเองอยู่แล้ว ดังนั้น กสทช.จึงต้องเร่งที่จะกำหนดการร่วมดำเนินกิจการในรูปแบบ MVNO ต่อไป

"ต้องยอมรับว่าตามเงือนไขการประกอบกิจการนั้นระบุไว้ชัดเจนอยู่แล้ว เราจึงต้องเปิดให้มีการขายส่ง-ขายต่อในลักษณะ MVNO และอีกหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดการแข่งขัน ซึ่งตอนนี้เรายังบอกไม่ได้ว่าจะมีผู้เข้าร่วมประมูลกี่ราย ถ้า 3 รายก็น่าจะเหมาะสม และยิ่ง 4 รายก็ยิ่งจะดีมาก แต่ถ้าเพิ่มเป็น 5 รายก็จะมากจนเกินไป" พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าว

สำหรับการประมูลใบอนุญาต 3 จี จะประมูลคลื่นจำนวน 45 เมกะเฮิร์ตซ แบ่งเป็น 9 สล็อตๆละ 5 เมกะเฮิร์ตซ ราคาเริ่มต้นประมูลใบอนุญาต 3 จี อยู่ที่ 4,500 ล้านบาท/5เมกะเฮิร์ตซ ระยะเวลาของใบอนุญาต 15 ปี และคาดว่าจะจัดประมูลได้ในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน ต.ค.นี้

ด้านนายนพปฎล เดชอุดม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน TRUE กล่าวว่า ควรมีการตรวจสอบผู้เข้าร่วมประมูลว่าเข้าข่ายนิติบุคคลต่างด้าวหรือไม่ เพราะมีบางรายที่เข้าข่ายถือหุ้นเกินกว่ากฎหมายกำหนด อีกทั้งราคาเริ่มต้นประมูลที่ 4,500 ล้านบาท ต่อ 5 MHz ถือว่าสูงเกินไป โดยควรที่จะนำบทเรียนการจากจัดการประมูลเมื่อปี 2553 มาปรับใช้ รวมทั้งเงื่อนไขการชำระเงิน 50% ภายใน 45 วัน ส่งผลกระทบต่อ TRUE ซึ่งเป็นผู้ประกอบการโทรคมนาคมของไทยที่เป็นรายเล็ก

และหากมีผู้ประมูลได้เพียง 5 เมกะเฮิร์ตซ หากไม่สามารถประกอบธุรกิจ ควรคืนคลื่นความถี่ เพราะมีความเสี่ยงที่จะถูกซื้อกิจการและกักตุนคลื่นความถี่ได้

นายนฤพนธ์ รัตนสมาหาร ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานรัฐกิจสัมพันธ์ DTAC กล่าวว่า ราคาเริ่มต้นการประมูลสูงเกินไป อีกทั้งการประมูลเพียง 15 เมกะเฮิร์ตซ ถือว่ามีความเหมาะสมต่อการให้บริการ เพราะหากให้ประมูลได้ถึง 20 เมกะเฮิร์ตซ จะเกิดการกักตุนคลื่นความถี่

รวมทั้งควรกำหนดให้ขยายพื้นที่บริการเพียงร้อยละ 50 ตามจำนวนผู้ใช้บริการ และไม่เป็นภาระกับผู้ประกอบการ เพราะคลื่นความถี่ 2.1 GHz ไม่เหมาะกับการให้บริการในพื้นที่ต่างจังหวัดและชนบท โดยควรใช้งบประมาณการให้บริการเชิงสังคมของ กสทช. หรือ USO รวมทั้งบริการอินเตอร์เน็ตผ่านดาวเทียมสำหรับพื้นที่ชนบทและห่างไกล

นายวิเชียร เมฆตระการ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ผู้บริหาร บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) กล่าวว่า อยากให้เกิดการประมูล3จีได้สำเร็จ และ ADVANC ต้องการคลื่นสำหรับทำ 3จี จำนวน 15 MHz ซึ่งเพียงพอต่อการให้บริการ 3จีแล้ว ด้วย งบลงทุน 45,000-50,000 ล้านบาทภายใน 3 ปี และการที่ ADVANC ประมูลเพียง 15 MHz ก็เพราะมองว่าในอนาคตกสทช.ยังจะมีการเตรียมเปิดประมูลคลื่นความถี่อื่นๆ อีก เช่น คลื่น 1800 MHz และคลื่น 900 MHz ซึ่งจะถูกคลื่นมายังกสทช.

"อยากให้กสทช.ทำให้ชัดเจนว่า เรื่องของคลื่น 1800 MHz ที่บริษัท ดิจิตอลโฟน ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ ADVANC ถือครองอยู่ซึ่งจะสิ้นสุดสัมปทานในเดือนก.ย.ปีพ.ศ.56 นั้น ดิจิตอลโฟนจะต้องคืนคลื่นให้ บมจ. กสท โทรคมนาคม ผู้ให้สัมปทาน หรือคืนให้กับกสทช.โดยตรง เนื่องจากกฎหมายที่ระบุไว้ไม่ชัดเจน" นายวิเชียร กล่าว

ส่วนนายประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ กรรมการกสทช.ด้านเศรษฐศาสตร์ ในกิจการโทรคมนาคม กล่าวถึงกรณีที่ภาครัฐมีแนวคิดเก็บภาษีสรรพสามิตในธุรกิจโทรคมนาคม ในอัตราร้อยละ 3 ซึ่งอาจส่งผลต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ และส่งผลต่อผู้บริโภคในที่สุด โดยขณะนี้รัฐบาลยังไม่มีแนวคิดในการเก็บภาษีแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมีแนวทางในการเก็บภาษี เช่น ภาษีเงินได้นิติบุคคล หากบริษัทมีกำไรดี หรือแนวทางอื่น อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลมีแนวคิดการเก็บภาษีเพิ่มเติมจากกิจการโทรคมนาคม กสทช.คงไม่สามารถห้ามได้

ส่วนบรรยากาศในการเปิดรับฟังในช่วงเช้าของการเปิดรับฟังความคิดเห็น 2 ร่างประกาศดังกล่าว มีประชาชนจากกลุ่มรักแผ่นดินประมาณ 40-50 คนรวมตัวกันถือป้ายคัดค้านแนวคิดของนักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กรณีให้ต่างชาติสามารถเข้ามาถือหุ้นของกิจการโทรคมนาคมได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ