นายชนินท์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บ้านปู (BANPU) เปิดเผยว่า บริษัทปรับแผนการลงทุนระยะ 4 ปี(ปี 55-58)จากวงเงิน 1.75 พันล้านเหรียญสหรัฐ ปรับลดลง 30% หรือประมาณ 500-600 ล้านเหรียญสหรัฐ คงเหลือวงเงินลงทุน 1.15 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ตลาดในปัจจุบันที่ราคาถ่านหินในตลาดโลกอ่อนตัวลง และคาดว่าราคายังทรงตัวไปจนถึงอย่างน้อยในปลายปีนี้หรือต้นปี 56
"การเลื่อนใช้เงินเพื่อให้สอดคล้องกับภาวะตลาดถ่านหินโลกที่ปรับตัวลดลงขณะนี้ และความไม่แน่นอนเศรษฐกิจโลกและยุโรป จึงต้องดูแลตัวเองให้แข็งแรงก่อนเพื่อมีเงินเตรียมพร้อมหาโอกาสใหม่ในวันข้างหน้า"นายชนินท์ กล่าว
นายชนินท์ ขี้แจงรายละเอียดของการปรับแผนลงทุนว่า บริษัทจะเลื่อนแผนใช้เงินลงทุนในออสเตรเลีย จาก 600 ล้านเหรียญสหรัฐ จะเลื่อนไปก่อนราว 200 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเลื่อนกรอบเวลาการลงทุนโครงการ Newstan ออกไปก่อน ส่วนเหมืองที่มองโกเลีย เดิมตั้งงบลงทุนไว้ 400 ล้านเหรียญสหรัฐ ก็จะเลื่อนออกไปประมาณ 200-250 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะทำให้แผนที่จะเริ่มผลิตปีนี้ 1 ล้านตัน ต้องเลื่อนออกไป และปีถัดไปจากเดิมกำหนดจะผลิตเพิ่มเป็น 3.0-4.5 ล้านตัน ก็เลื่อนออกไปก่อนเช่นกัน
ทั้งนี้ เงินลงทุนในแผนงานจะเน้นใช้กับโครงการสำคัญก่อน โดยเฉพาะการพัฒนาท่าเรือ รวมทั้งการพัฒนาเหมืองบารินโตะในอินโดนีเซียที่เปิดหน้าเหมืองไปแล้วก็คงจะต้องดำเนินการต่อเนื่องและพยายามผลิตถ่านหินให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น
พร้อมกันนั้น บริษัทยังปรับลดเป้าหมายรายได้รวมปี 55 เหลือเติบโต 3% จากเดิมตั้งเป้าเติบโต 15% เนื่องจากราคาขายถ่านหินปรับลดลง ขณะที่บริษัทได้ปรับลดเป้าการผลิตและการขาย จากเดิม 47 ล้านตัน เหลือ 44 ล้านตัน เนื่องจากได้เลื่อนแผนการผลิตเหมืองในมองโกเลีย จากที่คาดว่าจะเริ่มผลิต 1 ล้านตันในปีนี้ เนื่องจากเห็นว่ายังไม่คุ้มค่าการลงทุน รวมทั้งลดการผลิตเหมืองในอินโดนีเซียและออสเตรเลียลงอีก 1 ล้านตัน ดังนั้น จะส่งผลให้กำไรจากการดำเนินงานปีนี้ต่ำกว่าปี 54 ที่มีกำไรประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท
และ บริษัทได้ปรับลดเป้าปริมาณการผลิตและขายในปี 56-58 จากเดิมที่ตั้งเป้าในปี 58 ทั้งกลุ่มจะมีปริมาณการผลิตและขายที่ 60 ล้านตัน โดยปรับลดลง 10% เหลือราว 55 ล้านตัน นอกจากนั้น บริษัทยังได้ออกมาตรการลดค่าใช้จ่ายการดำเนินงานกลุ่มธุรกิจถ่านหินในประเทศอินโดนีเซียในปีนี้ ลงอีก 6-7% ของงบประมาณที่ตั้งไว้ หรือ 4 เหรียญฯ/ตัน และปีหน้าจะลดต้นทุนเป็น 10-12%
"แผนทั้งหมดที่ทำเพื่อรักษากระแสเงินสดและฐานะการเงินของบริษัทให้แข็งแกร่ง จากปัจจุบันมีกระแสเงินสด 3 หมื่นล้านบาท และบริษัทยังคงนโยบายการจ่ายปันผลไม่ต่ำกว่า 50% ของกำไรสุทธิ...ส่วนเป้าหมายรายได้ 5 ปีคงเปลี่ยนไป เพราะปริมาณขายที่ลดลง แต่ต้องดูราคาถ่านหินปี 56-58 หาราคายังต่ำก็คงกระทบเป้ารายได้ 5 ปี"นายชนินทร์ กล่าว
นายชนินท์ กล่าวว่า ราคาถ่านหินจากนี้ถึงสิ้นปี 55 และต้นปี 56 จะทรงตัวที่ 94 เหรียญฯ/ตัน จากเดิมคาดราคาถ่านหินอยู่ที่ 100-120 เหรียญฯ/ตัน แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ากรณีเลวร้ายสุดราคาถ่านหินก็คงไม่ต่ำกว่า 90 เหรียญฯ/ตัน ขณะที่ราคาขายถ่านหินเฉลี่ยในอินโดนีเซียปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 95 เหรียญฯ/ตัน รวมกำไรจากการขาย coal swap แล้ว จากปีก่อนอยู่ที่ 97 เหรียญฯ/ตัน
สำหรับกระแสการใช้ก๊าซธรรมชาติทดแทนถ่านหิน โดยเฉพาะ shale gas นั้น นายชนินท์ เชื่อว่า แนวโน้มราคาก๊าซ โดยเฉพาะในสหรัฐน่าจะปรับขึ้นไปจากระดับ 2 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู โดยมองว่าราคาในระดับดังกล่าวไม่สามารถคงอยู่ได้เพราะไม่คุ้มทุน และผู้ผลิตก็ยังจะต้องมีการลงทุนอีกมาก ดังนั้น การที่ก๊าซต้องปรับราคาเพิ่มขึ้น จะทำให้ความต้องการถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงหลักยังคงอยู่ในระยะเวลาที่ยาวกว่า ขณะนี้ทางฝ่ายบริหารของบริษัทกำลังพิจารณาแผนงานรองรับในระยะยาวต่อไป
"แผนระยะยาวของบริษัทคงจะต้องมีการทบทวนทุกปี เพราะต้องขึ้นอยู่กับราคาก๊าซ และดีมานด์ถ่านหิน ซึ่งแผนจากนี้ไปถึงปี 58 คงไม่กระทบ แต่เราจะเน้นปรับสินทรัพย์ที่จะลงทุนมากกว่าเพื่อคงสถานะการเงินเป็นบวก"นายชนินท์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม บริษัทยังมีสินทรัพย์อีกหลายแห่งที่สามารถสร้างความแข็งแกร่งด้านกระแสเงินสดให้กับบริษัท โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี และโรงไฟฟ้าหงสาที่การก่อสร้างเร็วกว่าแผนอย่างมาก แต่เงินลงทุนส่วนใหญ่จะใช้ในช่วงปลายปี 58 จีงไม่กระทบแผนการลงทุนในขณะนี้ และเชื่อว่าทั้งสองโครงการจะสร้างรายได้อย่างมั่นคงให้กับบริษัท ส่วนถ่านหินจากเหมืองเกาเหอในจีนเน้นขายให้กับอุตสาหกรรมเหล็กและขายให้กับตลาดในประเทศ ซึ่งถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี