ส.ตราสารหนี้ คาด H2/55 เอกชนออกหุ้นกู้ 1.3-1.5 แสนลบ.ทั้งปีออก 3.5-4 แสนลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday July 24, 2012 16:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายบัณฑิต นิจถาวร ประธานกรรมการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งหลังปี 55 คาดว่าภาคเอกชนจะมีการออกหุ้นกู้ อีกประมาณ 1.3-1.5 แสนล้านบาท หลังจากช่วงครึ่งปีแรกได้มีการออกไปแล้วประมาณ 2.45 แสนล้านบาท ทำให้ปีนี้ภาคเอกชนมีการออกหุ้นกู้ใหม่รวมทั้งสิ้น 3.5-4 แสนล้านบาทตามที่คาดการณ์ไว้

การระดมทุนผ่านตราสารหนี้ภาคเอกชนส่วนใหญ่ในปีนี้จะยังคงมาจากกลุ่มธนาคารพาณิชย์และพลังงาน ซึ่งในช่วงครึ่งปีแรกกลุ่มธนาคารมีการระดมทุนกว่า 9.1 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 37% ของหุ้นกู้ที่ออกใหม่ทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นการออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ธนาคารสามารถนับเป็นเงินทุนสำรองขั้นที่ 2 ได้ ถือเป็นการเตรียมความพร้อมด้านเงินทุน ส่วนการระดมทุนของกลุ่มพลังงานมีสัดส่วนประมาณ 29%

"หลังเกิดปัญหาในยุโรปก็ทำให้มีความกังวลกันว่าจะกระทบต่อการไหลเข้าออกของเงินทุน ซึ่งจะทำให้เกิดความผันผวนมากขึ้น ธนาคารต่างๆก็จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมของเงินทุนไว้ ทำเงินกองทุนขั้นที่ให้ 2 แข็งแกร่งเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน แบงก์ก็เลือกการออกหุ้นกู้มากกว่าที่จะระดมเงินฝากเหมือนเมื่อก่อนเพราะสามารถบริหารจัดการได้ดีกว่า ประกอบกับดอกเบี้ยก็มีแนวโน้มอ่อนตัวลง"นายบัณฑิต กล่าว

สำหรับแนวโน้มมูลค่าการซื้อขายของตลาดตราสารหนี้โดยรวมในช่วงครึ่งปีหลังก็มีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงครึ่งปีแรกที่มีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันที่ 8.2 หมื่นล้านบาท และหากไม่นับรวมการซื้อขายตราสารหนี้ระยะสั้นที่มีอายุคงเหลือน้อยกว่า 1 ปี จะมีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันที่ 1.8 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ เป็นไปตามปริมาณพันธบัตรออกใหม่ที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับแรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติที่คาดว่าจะยังคงเข้ามาและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดว่าเม็ดเงินลงทุนต่างชาติจะยังคงไหลเข้าตลาดเอเชียและประเทศไทยหลังเศรษฐกิจของยุโรปและสหรัฐฯยังอ่อนแอ

ส่วนตราสารหนี้ที่คาดว่าจะเป็นที่นิยมใช้เป็นเครื่องมือในการระดมทุน ได้แก่ ตราสารหนี้อายุน้อยกว่า 3 ปี ถือว่าค่อนข้างปลอดภัยหากเกิดการเปลี่ยนแปลงของทิศทางอัตราดอกเบี้ย และตราสารหนี้ช่วงอายุ 5-10 ปี ซึ่งเป็นช่วงอายุที่นักลงทุนต่างชาตินิยมซื้อขาย และมีการระดมทุนสม่ำเสมอ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ