บมจ.พีทีจี เอ็นเนอยี(PTG) เตรียมยื่นข้อมูลไฟลิ่งเสนอขายหุ้นให้แก่ประชาชนทั่วไปครั้งแรก(IPO)ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)ภายในไตรมาส 3/55 โดยหวังว่าจะนำหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้ทันภายในปีนี้ เพื่อนำเงินไปใช้ในการขยายธุรกิจ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน เนื่องจากบริษัทมีแผนเพิ่มจำนวนปั๊มน้ำมัน PT อย่างต่อเนื่องไปทั่วทุกภาคของประเทศ และขยายขนาดกองรถขนส่งน้ำมัน พร้อมกันนั้นจะมีการรีแบรนดิ้งปั๊มน้ำมันทั้งหมด ซึ่งเบื้องต้นบริษัทตั้งเป้าหมายก้าวขึ้นสู่การเป็นบริษัทที่มีปั๊มน้ำมันสูงสุดเป็นอันดับ 3 ของประเทศภายในสิ้นปีนี้
ขณะเดียวกันยังมีแผนล้างขาดทุนสะสมที่มีอยู่กว่า 200 ล้านบาทก่อนเสนอขายหุ้น IPO และคาดว่าจะจ่ายเงินปันผลจากผลประกอบการงวดปี 55 ให้กับผู้ถือหุ้นได้ โดยบริษัทคาดว่าปีนี้น่าจะมีกำไรเติบโตก้าวกระโดดจากปีก่อนที่มีกำไร 226 ล้านบาท เนื่องจากครึ่งปีแรกน่าจะทำกำไรได้แล้วกว่า 200 ล้านบาท จากยอดขายราว 2 หมื่นล้านบาท ขณะที่ทั้งปี 54 มียอดขาย 2.78 หมื่นล้านบาท และช่วงครึ่งปีหลังคาดว่ายอดขายจะไม่ต่ำกว่าครึ่งปีแรก ทั้งปีอาจจะทำได้ราว 4 หมื่นล้านบาท หรือเติบโตประมาณ 40% จากปีก่อน
นายพิทักษ์ รัชกิจประการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PTG กล่าวว่า บริษัทจะลดมูลค่าตราไว้ (พาร์)หุ้นละ 10 บาท เหลือ 1 บาท ซึ่งทำให้มีทุนจดทะเบียนเพิ่มเป็น 1,250 ล้านบาท จากนั้นจะเพิ่มทุนจดทะเบียนเพื่อนำหุ้นออกมาเสนอขาย 25% หรือประมาณ 420 ล้านหุ้น ซึ่งภายหลังการเพิ่มทุนครั้งนี้บริษัทจะมีทุนจดทะเบียนเพิ่มเป็น 1,670 ล้านบาท ทั้งนี้ เพื่อระดมทุนไปใช้ในการขยายธุรกิจในอนาคต
ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าภายหลังจากที่ ก.ล.ต.อนุมัติแบบไฟลิ่งที่บริษัทจะยื่นในช่วงเดือน ก.ย.นี้แล้ว คงจะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์เพื่อสรุปราคาขายหุ้น IPO
"แล้วแต่ ก.ล.ต.จะอนุมัติ เราก็อยากจะเข้าตลาดเร็วๆ แต่แผนงานในปีนี้เรายังใช้เงินที่มีอยู่ ส่วนเงินที่ได้จากการขายหุ้น IPO จะไปใช้ขยายงานในอนาคต หลังจากสิ้นปีนี้เราเชื่อว่าจะขึ้นเป็นเบอร์ 3 ของผู้ที่มีจำนวนปั๊มมากที่สุดในประเทศรองจาก ปตท.และบางจากฯ จากตอนนี้อยู่ในอันดับ 5"นายพิทักษ์ กล่าว
ปัจจุบัน บริษัทมีปั๊มน้ำมัน PT จำนวน 500 แห่งทั่วประเทศ ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยแบ่งเป็นปั๊มที่เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท(Company Owned Company Operated:COCO)จำนวน 320 แห่ง ส่วนปั๊มที่เป็นของผู้ประกอบการที่ได้รับสิทธิจากบริษัท(Franchise)และปั๊มที่กรรมสิทธิ์และการบริหารงานเป็นของผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้า PT (Dealer Owned Dealer Operated:DODO) จำนวน 180 แห่ง ซึ่งบริษัทซื้อน้ำมันจากโรงกลั่นของ บมจ.ไทยออยล์(TOP)มาจำหน่าย ได้แก่ เบนซิน 91, แก๊สโซฮอล์ 91, แก๊สโซฮอล์ 95 และ ดีเซล
นายพิทักษ์ กล่าวว่า ครึ่งปีแรกบริษัทมีปั๊มน้ำมันเพิ่มขึ้นราว 60 แห่ง จาก 440 แห่งในปี 54 และสิ้นปีนี้คาดว่าจะเพิ่มเป็น 580 แห่ง เป็นปั๊ม COCO ในสัดส่วน 66% และ DODO 34% บริษัทมีแผนจะขยับสัดส่วนดังกล่าวเป็น 75% ต่อ 25% ภายใน 2-3 ปี ซึ่งหากเป็นการลงทุนเองจะใช้เงินทุนประมาณแห่งละ 1.5-2.0 ล้านบาท ขณะที่ปั๊ม DODO ยังมีแนวทางที่จะขยายให้เป็นปั๊ม PT ได้อีกมาก เนื่องจากขณะนี้มีปั๊มจำนวนมากถึง 13,000 แห่งที่ยังไม่มีเครื่องหมายการค้า ส่วนใหญ่อยู่ในเส้นทางสายรอง โดยบริษัทมีเป้าหมายเพิ่มจำนวนปั๊มให้ได้ปีละอย่างน้อย 100 แห่ง
พร้อมกันนั้น บริษัทมีแผนจะปรับปรุงปั๊มน้ำมันที่มีอยู่ภายใต้โครงการรีแบรนดิ้ง ทั้งการเปลี่ยนสัญญลักษณ์ PT ป้ายต่าง ๆ และสภาพภายในปั๊มให้ทันสมัยขึ้น เช่น มีร้านสะดวกซื้อ ร้านกาแฟ ที่ขณะนี้ยังใช้แบรนด์ของบริษัท แต่ก็อยู่ระหว่างพูดคุยกับเจ้าของแบรนด์ร้านค้าปลีก 1-2 รายที่สนใจเข้ามาเป็นพันธมิตร คาดว่าจะใช้เงินลงทุนแห่งละประมาณ 5 แสนบาท คาดว่าภายใน 2-3 ปีจะปรับปรุงครบทั้งหมด ซึ่งขณะนี้ได้สร้างปั๊มต้นแบบขึ้นที่ อ.บางปะหัน จ.อยุธยา ที่จะแล้วเสร็จในเดือน พ.ย.นี้ ทั้งนี้ เพื่อสร้างแบรนด์ PT ให้เป็นที่รู้จักในตลาดมากขึ้น หลังจากเปลี่ยนชื่อบริษัทมาจาก บริษัท ภาคใต้เชื้อเพลิง จำกัด และมีคลังน้ำมันเพียง 2 แห่งทางภาคใต้ แต่ขณะนี้มีคลังน้ำมันเพิ่มอีก 4 แห่งที่ สระบุรี ขอนแก่น ลำปาง และ นครศรีธรรมราช เพื่อให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศ
บริษัทมีส่วนแบ่งตลาด(มาร์เก็ตแชร์)ธุรกิจค้าปลีกน้ำมันเป็นอันดับ 6 ของประเทศ ในปีนี้คาดว่าจะมียอดขายน้ำมันราว 1,300 ล้านลิตร จากปีก่อนอยู่ที่ 950 ล้านลิตร โดยครึ่งปีแรกทำได้ 650 ล้านลิตรแล้ว ลูกค้าหลัก คือ กลุ่มผู้ใช้รถยนต์และกลุ่มผู้ใช้น้ำมันอื่น เช่น กลุ่มผู้ใช้น้ำมันเพื่อการขนส่ง เกษตรกรที่ใช้น้ำมันสำหรับเครื่องจักรการเกษตร ฯลฯ ซึ่งบริษัทพยายามรักษาค่าการตลาดไว้ที่ 1.70 บาท/ลิตรที่มองว่าเป็นระดับที่เหมาะสม จากในปี 54 อยู่ในระดับประมาณ 1.50 บาท/ลิตร
นายพิทักษ์ กล่าวว่า ขณะเดียวกันบริษัทยังมีแผนขยายกองรถบรรทุกขนส่งน้ำมันที่มีอยู่ 153 คัน โดยจะเน้นเพิ่มรถเทรลเลอร์ขนาดใหญ่ เพื่อให้สามารถขนส่งน้ำมันแต่ละเที่ยวในปริมาณมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการบริหารต้นทุนให้คุ้มค่า
ด้านนางศรันยา กระแสเศียร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท เซจ แคปปิตอล ในฐานะที่ปรึกษาการเงิน PTG กล่าวว่า ก่อนการเสนอขาย IPO บริษัทจะนำผลกำไรมาล้างขาดทุนสะสมทั้งหมดที่เหลืออยู่ราว 200 ล้านบาท ซึ่งลดลงอย่างต่อเนื่องจากปี 40 ที่เกิดภาระขาดทุนสูงถึง 3 พันล้านบาท ทั้งนี้เพื่อให้มูลค่าทางบัญชีของบริษัทสูงขึ้นจากไม่ถึง 1 บาท ที่เป็นการประเมินภายใต้ราคาพาร์ 1 บาท ขณะที่มูลค่าสินทรัพย์ของบริษัทอยู่ที่กว่า 2 พันล้านบาท
หลังจากล้างขาดทุนสะสมแล้ว บริษัทก็น่าจะมีการจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นจากผลประกอบการงวดปี 55 ได้ และหลังเสนอขายหุ้น IPO แล้วกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่จะลดสัดส่วนการถือหุ้นลง โดยกลุ่มรัชกิจปราการ เหลือ 32.85% จาก 43.83%, กลุ่มวิจิตรธนารักษ์ เหลือ 20% จาก 26.8% และ กลุ่มวชิรศักดิ์พานิช เหลือ 9% จาก 12%