นายบุรณิน รัตนสมบัติ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดต่างประเทศ บมจ.ปตท.(PTT) กล่าวว่า ปตท.กำลังรอความชัดเจนเกี่ยวกับกฎหมายการลงทุนและกฎหมายการค้าปลีกของพม่า ซึ่งคาดว่าจะออกมาในเร็วๆ นี้ เพื่อจะได้กำหนดแผนการลงทุนที่ชัดเจนว่า ปตท.ควรเข้าไปลงทุนธุรกิจในลักษณะใด ระหว่างการลงทุนด้วยตนเองเต็มรูปแบบ หรือการหาพันธมิตรทางธุรกิจในเมียนมาร์เข้ามาร่วมลงทุน
ทั้งนี้หากกฎหมายของพม่าไม่เอื้ออำนวยให้เข้าไปลงทุนด้วยตนเองทั้งหมด ปตท.จะเจรจากับพันธมิตรธุรกิจรายเดิมที่มีอยู่ ซึ่ง ปตท.ได้เข้าไปทำตลาดในธุรกิจน้ำมันเครื่องอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว
นายบุรณิน กล่าวว่า ปตท.ประเมินการเติบโตของตลาดในพม่าไว้สูง เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วหลังจากเปิดประเทศ รวมทั้งกฎหมายฉบับใหม่ที่อออกมามีผลให้ภาษีรถยนต์มือ 2 ที่จะนำเข้ามาจำหน่ายในพม่าลดลงมาก ทำให้ต่อไปจำนวนคนใช้รถยนต์ในพม่าจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ธุรกิจน้ำมันจะมีโอกาสเติบโตได้มากขึ้น
โดย ปตท.ได้จัดตั้งบริษัท พีทีที เมียนมาร์ เพื่อเดินหน้าการลงทุนธุรกิจน้ำมันในพม่าครบวงจร ทั้งธุรกิจสถานีบริการน้ำมัน ธุรกิจคลังน้ำมัน และการจำหน่ายน้ำมันอุตสาหกรรมด้วย ทั้งนี้ปตท.มีแผนจะใช้เงินลงทุนในพม่าช่วง 5 ปี(นับจากปีแรกที่เข้าไปลงทุน) เป็นวงเงินประมาณ 3 พันล้านบาท
"การลงทุนธุรกิจน้ำมันในพม่าเราต้องดูให้ครบวงจร เพราะความต้องการน้ำมันในพม่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และจะเป็นอัตราก้าวกระโดด โดยขณะนี้มีความต้องการใช้น้ำมันสูงถึง 2,400 ล้านลิตร/ปี แต่พม่ามีโรงกลั่นน้ำมันขนาด 5 หมื่นลิตร/วันเพียงแห่งเดียว และยังมีการกลั่นน้ำมันเพียง 2 ใน 3 ของกำลังการผลิตทั้งหมด ส่วนธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน โดย ปตท.จะเปิดสถานีบริการในพม่า 60 แห่งใน 2 ปี โดยจะเริ่มสร้างสถานีบริการในเมืองเศรษฐกิจที่สำคัญของพม่าก่อน เช่น เนปิดอร์ ย่างกุ้ง และมัณฑะเลย์ก่อนจะขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ ซึ่งระยะต่อไปก็ต้องมีการเตรียมความพร้อมเรื่องการสร้างคลังน้ำมันด้วย" นายบุรณินกล่าว
ด้านนายสรัญ รังคสิริ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจน้ำมัน บมจ.ปตท.(PTT) กล่าวว่า ปตท.มีแผนที่จะลงทุนเพิ่มสถานีบริการน้ำมันในอาเซียนเพิ่มเติมก่อนเปิด AEC ภายในวงเงิน 5 พันล้านบาท โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มสถานีบริการน้ำมันใน 3 ประเทศที่เคยเข้าไปลงทุนก่อนหน้านี้ ได้แก่ ลาวจะเพิ่มสร้างสถานีบริการน้ำมันเพิ่มเป็น 60 แห่ง จากเดิม 30 แห่ง กัมพูชาเพิ่มเป็น 40 แห่ง จากเดิม 14 แห่ง และในฟิลิปปินส์เพิ่มเป็น 150 แห่งจากเดิมมีอยู่ 50 แห่ง
ทั้งนี้จะใช้เงินลงทุนในลาวและกัมพูชาประเทศละ 500 ล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีนี้ เนื่องจากต้องการทำการตลาดให้แบรนด์ ปตท.เป็นที่จดจำ รวมทั้งจะมีการปรับปรุงสถานีบริการที่มีอยู่เดิมบางแห่งให้มีความทันสมัยมากขึ้นเพื่อเพิ่มธุรกิจค้าปลีก เช่น ร้านจิฟฟี่ และร้านกาแฟคาเฟ่อเมซอนเข้าไปในสถานีบริการในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในเส้นทางคมนาคมที่มีความสำคัญ
นายสรัญ กล่าวต่อว่า ปตท.จะมีการเพิ่มสัดส่วนของธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมันให้เพิ่มขึ้นอีก 32% จากที่ในปัจจุบันธุรกิจดังกล่าวมีสัดส่วนอยู่ประมาณ 18% ของรายได้ทั้งหมด โดยในช่วง 3 ปีข้างหน้ารายได้ระหว่างธุรกิจน้ำมันและธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมัน จะมีสัดส่วนเท่ากันอยู่ที่ 50% เนื่องจากปัจจุบันธุรกิจค้าปลีกน้ำมันมีค่าการตลาดต่ำมาก
โดยปัจจุบันค่าการตลาดน้ำมันโดยเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่เพียง 1.20 บาทต่อลิตรเท่านั้น โดย ปตท.ได้รับเพียง 40 สตางค์ต่อลิตร และดีลเลอร์ได้รับ 70 — 80 สตางค์ต่อลิตร
สำหรับธุรกิจร้านกาแฟคาเฟ่อเมซอน ที่ถือว่าเป็นรายได้อีกส่วนหนึ่งในธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมันของ ปตท.นั้น นายสรัญ กล่าวว่าในปี 2555 ปตท.คาดว่าจะมียอดขายกาแฟสูงถึง 53 ล้านแก้ว เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ที่มียอดขาย 35 ล้านแก้ว และมีรายได้จากธุรกิจนี้เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 2 พันล้านบาท จากปีก่อนมีรายได้จากธุรกิจกาแฟประมาณ 1.5 พันล้านบาท โดยรายได้และยอดขายที่เพิ่มขึ้นในปีนี้มาจากการเพิ่มจำนวนสาขามากขึ้น และถือเป็นร้านกาแฟที่มีสาขามากที่สุดในประเทศ โดยปัจจุบันมีจำนวนทั้งสิ้น 690 สาขาทั่วประเทศ และจะเพิ่มจำนวนขึ้นเป็น 730 สาขาภายในปีนี้