สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ประจำสัปดาห์ (23 — 27 กรกฎาคม 2555) ปริมาณการซื้อขายตราสารหนี้ มีมูลค่ารวม 447,723 ล้านบาท หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ 85,545 ล้านบาท ลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้านี้ประมาณ 8% ทั้งนี้เมื่อแยกตามประเภทของตราสารแล้วจะพบว่ากว่า 69% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด หรือประมาณ 308,096 ล้านบาท เป็นการซื้อขายในตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (State Agency Bond) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นตราสารที่มีอายุคงเหลือค่อนข้างน้อย (ไม่เกิน 6 เดือน) ในขณะที่พันธบัตรรัฐบาลที่ออกโดยกระทรวงการคลัง (Government Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 102,914 ล้านบาท และหุ้นกู้ที่ออกโดยภาคเอกชน (Corporate Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 5,964 ล้านบาท หรือคิดเป็น 23% และ 1% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ตามลำดับ
สำหรับพันธบัตรรัฐบาล รุ่นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือรุ่น LB176A (อายุ 4.9 ปี) LB155A (อายุ 2.8 ปี) และ LB21DA (อายุ 9.4 ปี) มีมูลค่าการซื้อขายในแต่ละรุ่นเท่ากับ 23,887 ล้านบาท 22,758 ล้านบาท และ 9,750 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนพันธบัตรที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย รุ่นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงสุด 3 อันดับแรก คือรุ่น CB12814A (อายุ 14 วัน) CB12O25B (อายุ 91 วัน) และ CB12823C (อายุ 28 วัน) มูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 49,257 ล้านบาท 27,690 ล้านบาท และ 23,363 ล้านบาท ตามลำดับ
ทางด้านหุ้นกู้ภาคเอกชน ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกนั้น ได้แก่ หุ้นกู้ของบริษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด (TLT12DA (AAA)) มูลค่าการซื้อขาย 521 ล้านบาท หุ้นกู้ของบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (TOP273A (AA-)) มูลค่าการซื้อขาย 503 ล้านบาท และ หุ้นกู้ของบริษัท อยุธยา แคปปิตอล ออโต้ ลีส จำกัด (มหาชน) (AYCAL132A (A+)) มูลค่าการซื้อขาย 365 ล้านบาท
เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve) ปรับตัวลดลงตลอดทั้งเส้น หรือปรับตัวลดลงอยู่ในช่วงประมาณ -3 ถึง -6 Basis Point (100 Basis point มีค่าเท่ากับ 1%) ยกเว้นตราสารอายุ 1 เดือนที่อัตราผลตอบแทนปรับตัวเพิ่มขึ้น 1 basis point ทั้งนี้ภาพรวมของตลาดตราสารหนี้ไทยในสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อนหน้า แต่ลดลงในอัตราที่น้อยลง เนื่องจากในช่วง 2 — 3 สัปดาห์ก่อนหน้านี้ Yield ได้ปรับตัวลดลงมาค่อนข้างมากแล้ว โดยการปรับตัวลดลงของ Yield Curve ในสัปดาห์นี้มีสาเหตุมาจากแรงซื้อของนักลงทุนกลุ่มๆต่างเป็นหลัก หลังจากที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในสหรัฐฯ และมาตรการแก้ไขปัญหาในกลุ่มยูโรโซนยังขาดความชัดเจน อย่างไรก็ตามนักลงทุนในตลาดคาดว่าในช่วงอาทิตย์หน้า คงจะเห็นความชัดเจนของมาตรการต่างๆ มากขึ้น ในขณะที่ความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะสถานการณ์ในกลุ่มยูโรโซน ยังคงเป็นปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนเข้าซื้อตราสารหนี้ต่อไป โดยในช่วงต้นสัปดาห์นักลงทุนมีแรงซื้อในตราสารระยะกลางถึงระยะยาว หลังจากมีกระแสข่าวว่าภาครัฐบาลท้องถิ่นของประเทศสเปนอาจจะต้องขอรับเงินช่วยเหลือด้วยเช่นกัน หลังจากที่ภาคธนาคารของสเปนเพิ่งจะได้รับอนุมัติเงินช่วยเหลือไปแล้ว 1 แสนล้านยูโร
สำหรับผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย ได้มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 3.0% ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดย กนง. ให้เหตุผลว่านโยบายการเงินขณะนี้อยู่ในภาวะผ่อนปรนที่จะสามารถสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ และสามารถรองรับความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกได้ในระดับหนึ่งแล้ว และยังไม่มีความจำเป็นต้องปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ในสัปดาห์ที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสุทธิในตราสารหนี้ทุกประเภทรวมกัน (ทั้งระยะสั้น และระยะยาว) 13,016 ล้านบาท แต่หากพิจารณาเฉพาะการซื้อขายในตราสารหนี้ระยะยาว (อายุคงเหลือมากกว่า 1 ปี) จะพบว่าเป็นการ ซื้อสุทธิ เพียง 146 ล้านบาท ทางด้านของนักลงทุนรายย่อย (Individual) ที่ถึงแม้จะมีมูลค่าการซื้อขายค่อนข้างน้อย แต่ในสัปดาห์นี้ยังคงมียอดซื้อสุทธิ 896 ล้านบาท