ตลท.รุกขยายธุรกิจบริการหลังการซื้อขายให้ครบวงจรสู่ศูนย์กลางภูมิภาค

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday July 30, 2012 16:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) เดินหน้าตอบสนองโอกาสทางการเงินให้แก่ธุรกิจและผู้ลงทุนตามแผนกลยุทธ์ โดยพัฒนาระบบงานและขยายธุรกิจบริการหลังการซื้อขายหลักทรัพย์ให้ครบวงจร สร้างโครงสร้างพื้นฐานรองรับการขยายงานบริการหลังการซื้อขาย โดยขยายขอบเขตการให้บริการงานชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์โดยบุคคลที่สาม (Third Party Clearing) และพัฒนาระบบเพื่อรองรับการให้บริการเก็บรักษาหลักทรัพย์ต่างประเทศแทนผู้ลงทุน เน้นทุกบริการช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ลงทุน สมาชิกผู้ฝากหลักทรัพย์ และสมาชิกสำนักหักบัญชี

นายบดินทร์ อูนากูล รองผู้จัดการ สายงานบริการหลังการซื้อขายหลักทรัพย์ ตลท. เปิดเผยว่า ตลท.ให้ความสำคัญกับการพัฒนางานบริการหลังการซื้อขายมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยเห็นว่าการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ดีของงานบริการหลังการซื้อขาย (Infrastructure Facilities) จะช่วยรองรับการขยายงานด้านบริการหลังการซื้อขายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสู่การเป็นศูนย์กลางด้านงานบริการหลังการซื้อขายของภูมิภาค จึงขยายการให้บริการงานชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์โดยบุคคลที่สาม (Third Party Clearing: TPC) ให้บริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกสำนักหักบัญชีสามารถโอนรายการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ระหว่างกันได้ (Give-up/Take-up) และพัฒนาระบบเพื่อรองรับการให้บริการเก็บรักษาหลักทรัพย์ต่างประเทศแทนผู้ลงทุน (Global Custodian)

ทั้งนี้ การพัฒนาระบบ Third Party Clearing: TPC เป็นแผนงานเชิงกลยุทธ์ เพื่อสร้างจุดแข่งขันและเพิ่มขีดความสามารถให้บริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกสำนักหักบัญชีสามารถรับทำหน้าที่ชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์แก่บริษัทหลักทรัพย์รายอื่นได้ (Give-up/Take-up)

การพัฒนาระยะแรก บริษัท สำนักหักบัญชี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดให้บริการไปแล้วเมื่อปี 2554 ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก โดยลูกค้ากลุ่มแรกที่เข้ามามีส่วนร่วมในงานบริการนี้ คือ บริษัทหลักทรัพย์ที่ทำการซื้อขาย ETF ทองคำ (Gold ETF) ซึ่งมอบหมายให้บริษัทหลักทรัพย์รายอื่นที่เป็นสมาชิกสำนักหักบัญชี ดำเนินการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ ทั้งสำหรับรายการซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ และรายการซื้อหรือขายคืนหน่วย ETF ในฐานะที่เป็น Participating Dealer

"บริการเพื่อทำรายการ Give-up/Take-up นี้จะช่วยลดข้อจำกัดและเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้ลงทุนหรือบริษัทหลักทรัพย์ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของสำนักหักบัญชี ในการมอบหมายงานชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ให้แก่สมาชิกสำนักหักบัญชีได้มากกว่า 1 ราย ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงด้านการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ โดยไม่จำเป็นต้องจำกัดงานดังกล่าวไว้ที่สมาชิกสำนักหักบัญชีเพียงรายใดรายหนึ่ง"นายบดินทร์กล่าว

นอกจากนี้ ยังเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ลงทุนที่เปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์กับบริษัทหลักทรัพย์มากกว่า 1 ราย สามารถรวมศูนย์การทำ Clearing & Settlement ไว้กับบริษัทหลักทรัพย์เพียงรายใดรายหนึ่งได้ ซึ่งเปิดให้บริการแล้วตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2555

ส่วนการพัฒนาระบบเพื่อรองรับการให้บริการเก็บรักษาหลักทรัพย์ต่างประเทศแทนผู้ลงทุนภายใต้บัญชีของบริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์(ประเทศไทย) จำกัด (TSD) นั้น ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ฯ ได้ดำเนินการจัดจ้างตัวแทนผู้รับฝากทรัพย์สิน (Global Custodian) เป็นที่เรียบร้อยแล้วตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2555 ที่ผ่านมา ซึ่งครอบคลุมการลงทุนในตลาดการเงินสำคัญใน 27 ประเทศทั่วโลก ทั้ง อเมริกา ยุโรป ออสเตรเลีย และเอเชีย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างเครือข่ายการเชื่อมโยงงานส่งมอบและชำระราคา (Clearing & Settlement) กับตลาดต่างประเทศและสามารถรองรับธุรกรรมของสมาชิกศูนย์รับฝากที่มีการซื้อขายหลักทรัพย์ต่างประเทศในปัจจุบันรวมถึงธุรกรรมทางการเงินใหม่ๆ ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น หลักทรัพย์ประเภท Dual Listing หรือการเปิดรับฝากหลักทรัพย์สกุลเงินตราต่างประเทศ เป็นต้น

การดำเนินการตามโครงการนี้เป็นการวางโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) โดยมุ่งเน้นเป็นทางเลือกในการดำเนินธุรกิจในลักษณะรวมศูนย์เพื่อช่วยให้สมาชิกมีต้นทุนการดำเนินการต่ำและมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อผู้ลงทุนไทยในระยะยาว ทั้งนี้คาดว่าจะพร้อมให้บริการในปี 2556 เป็นต้นไป

ทั้ง 2 บริการดังกล่าว ได้บรรจุรวมอยู่ในการศึกษาแผนแม่บทงานปฏิบัติการ (Operations Master Plan) เพื่อนำมาพัฒนาและปรับปรุงการบริการหลังการซื้อขายให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ธุรกิจ รวมทั้งเสริมสร้างความเชื่อมั่นในงานปฏิบัติการของตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ได้รับการยอมรับในระดับสากล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ