กสท.เข้าเสียบโครงการเอพีจีหลังทีโอทีเจรจาล้มเหลว ช่วยดันเป้ารายได้

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday July 31, 2012 09:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.กสท โทรคมนาคม กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ กสทฯ ได้อนุมติเห็นชอบให้กสทฯ เป็นผู้เสนอตัวทำโครงการขยายจุดเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเกตเวย์ในเอเซีย (เอพีจี) สำหรับบริการเคเบิลใต้น้ำ โดยล่าสุดได้มอบหมายให้ฝ่ายบริหารไปทำรายละเอียดโครงการ เพื่อเสนอต่อกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร (ไอซีที) ในการเสนอของบประมาณตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม เบื้องต้น กสทฯ ได้ขอขยายวงเงินจาก 10 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 300 ล้านบาท เป็น 51 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 1,500 ล้านาท

ทั้งนี้ หากกระทรวงไอซีทีเห็นชอบ กสทฯ จะเร่งเจรจาและลงนามร่วมกับภาคีประเทศสมาชิก คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนพ.ย.นี้ จากนั้นเร่งดำเนินการติดตั้ง ในเอเชียแปซิฟิกซึ่งน่าจะแล้วเสร็จในปี 2557 มีความยาวกว่า 8,000 กิโลเมตร มีจุดขึ้นบกในประเทศต่างๆ อาทิ มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม ฮ่องกง ไต้หวัน จีน ญี่ปุ่น เกาหลี และไทย

"การที่ไทยมีจุดเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตออกต่างประเทศ และมีจุดขึ้นบกหลายเส้นทางแล้ว จะเป็นส่วนเพิ่มปริมาณความจุโครงข่าย (คาปาซิตี้) ของแบรนด์วิธรวมในประเทศด้วย ซึ่งในปี 2558 ที่เปิดให้บริการปีแรก จะมีคาปาซิตี้ 50 กิกะไบต์ ปี 2559 เพิ่มเป็น 250 กิกะไบต์ และสุดท้ายในปี 2562 จะเพิ่มเป็น 1,000 กิกะไบต์" นายกิตติศักดิ์ กล่าว

ทั้งนี้ เดิมโครงการดังกล่าวนั้น บมจ. ทีโอที เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ แต่ทีโอทีไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกับภาคีสมาชิกได้ ดังนั้น กสทฯ จึงเสนอตัวขอทำแทน อย่างไรก็ตามระหว่างนี้ก็ไม่แน่ใจว่า ทีโอทีจะขอกลับมาทำโครงการนี้เองอีกครั้งหรือไม่ ซึ่งหากทีโอทีจะขอดำเนินการ ก็ต้องให้กระทรวงไอซีทีตัดสินใจว่า จะให้ใครเป็นผู้รับผิดชอบ ทั้งนี้ สิ่งที่กสทฯ ดึงมาเป็นจุดแข็งในการดำเนินการ ก็เพื่อต่อยอดธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์) และการให้บริการวงจรเช่าเกตเวย์ต่างประเทศ (ไอไอจี) ด้วย

นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า หากกสทฯ ได้รับงบประมาณจากไอซีที ในการดำเนินงานโครงการเอพีจีนั้น จะทำให้มีรายได้เข้ามาในปีแรกที่เปิดให้บริการ คือ ปี 2558 จำนวน 112 ล้านบาท ปี 2559 จำนวน 590 ล้านบาท ปี 2560 จำนวน 723 ล้านบาท ปี 2561 จำนวน 883 ล้านบาท และปี 2562 จำนวน 946 ล้านบาท ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่จะมีทั้งจากลูกค้าองค์กรในประเทศ และการขายช่องสัญญาณให้เช่าแบนด์วิธจากต่างประเทศ และมีการกำหนดระยะเวลาคุ้มทุนที่ 6 ปี คำนวณจากมูลค่าโครงการทั้งหมด 600 ล้านบาท

"แผนดังกล่าว จะมาช่วยเพิ่มรายได้จากการดำเนินงานของกสทฯ เอง ซึ่งเป้าหมายสูงสุดขององค์กร คือ ต้องการเป็นศูนย์กลางด้านโครงข่ายเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเกตเวย์ไปต่างประเทศแถบอินโดไชน่า ประกอบด้วย พม่า ลาว และกัมพูชา โดยคาดว่าปี 2555 นี้ รายได้จากธุรกิจสื่อสารข้อมูลจะมีมากกว่า 7,650 ล้านบาท คิดเป็นการเติบโตระหว่างปี 2555-2556 ราว 8.1% ซึ่งรายได้ในธุรกิจสื่อสารข้อมูล คิดเป็น 15% ของรายได้รวมปีนี้" นายกิตติศักดิ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ