นายจอน เอ็ดดี้ อับดุลลาห์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) เปิดเผยว่า บริษัทยังคงงบลงทุนโครงข่าย 3G บนคลื่นใหม่ไว้ในวงเงิน 4 หมื่นล้านบาท เป็นเวลา 3 ปี (ปี 55-57) ซึ่งเป็นวงเงินที่เข้าประมูลใบอนุญาตและลงทุนขยายโครงข่ายการให้บริการ โดยเงินลงทุน จะมาจากกระแสเงินสด ที่มีอยู่ปีละ 1.8 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลือมาจากเงินกู้ในประเทศ
หากมีการเปิดประมูลใบอนุญาตให้บริการ 3G ในเดือน ส.ค.55 ก็คาดว่าจะมีการออกใบอนุญาตได้ในเดือน ม.ค.56 ซึ่งกรณีที่บริษัทชนะประมูลก็คาดว่าจะถ่ายโอนลูกค้าเดิมไปยังคลื่นใหม่ 2.1 GHz ได้ในไตรมาส 2/56 และใช้เวลาอีกเป็นปีจึงจะสามารถ่ายโอนลูกค้าไปได้หมด
ระหว่างนี้บริษัทได้มีการเจรจากับ บมจ.กสท โทรคมนาคม ซึ่งเป็นคู่สัญญาสัมปทาน ที่ยังมีเวลาสัญญาอีก 6 ปี เกี่ยวกับการถ่ายโอนลูกค้าเดิมเข้าสู่คลื่นใหม่ หากการเจรจาไม่ประสบผลสำเร็จเชื่อว่าคงไม่มีปัญหา เพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของลูกค้าที่ต้องการใช้บริการบนคลื่นใหม่หรือไม่
อย่างไรก็ตาม หลังได้รับใบอนุญาต DTAC จะมีโครงข่ายครอบคลุมพื้นที่มากที่สุด มีสัญญาณที่เร็วที่สุด เนื่องจากบริษัทจะดำเนินการบนคลื่นความถี่ 1,825 จำนวน 25 MHz คลื่นความถี่ 850 จำนวน 10 MHz และ คลื่นความถี่ 2,100 จำนวน 15 MHz
"ภายใน 1-2 เดือนนี้ ทุกคนจะเห็นแผนมากขึ้นเกี่ยวกับ 3G ตอนนี้ยอดใช้มือถือของคนไทยอยู่ที่ 120% หรือมีคนใช้มากกว่า 1 ซิม เราจะทำดีกว่าคู่แข่ง จะทำให้เน็ตเวิร์คมากขึ้นกับลูกค้าเรา ลูกค้าเดิมที่เป็นของเราจะดึงกลับมา พื้นที่ที่ไม่เคยครอบคลุมจะทำให้ครอบคลุมและดึงลูกค้าใหม่มาด้วย"นาย จอน เอ็ดดี้ กล่าว
ทั้งนี้ บริษัทมั่นใจว่าจะสามารถดำเนินการได้ตามหลักเกณฑ์การเข้าประมูล 3G ที่กำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตขยายโครงข่ายให้ครอบคลุม 50% ภายใน 2 ปี แต่ไม่เห็นด้วยที่ให้มีการขยายโครงการครอบคลุม 80% ภายในปีที่ 4 แต่ควรให้เอกชนขยายโครงข่าย 2G ควบคู่ไปด้วย ซึ่งบริษัทจะมีการขยายโครงข่ายคลื่น 1,800 MHz และ 850 MHz ถึง 90%
และขณะนี้บริษัทยังอยู่ระหว่างขยายโครงข่าย 3G บนคลื่นเดิม จำนวน 5,200 สถานีฐาน ได้ทำเสร็จแล้ว 1,200 สถานีฐานในเขตกรุงเทพฯ และเพิ่มเป็น 2,300 สถานีฐานในปี 56 เน้นเขตพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล
พร้อมกันนั้น บริษัทยังได้มีการลงทุนขยายการให้บริการ wifi เน้นตามห้างสรรพสินค้า และจะดำเนินการขยายบริการต่อเนื่องถึงปี 56