EARTH ปรับโครงสร้างผถห.-ผู้บริหารเดินแผน 5 ปีรุกซื้อเหมืองเพิ่ม 5 แห่ง

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday August 6, 2012 12:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายขจรพงศ์ คำดี กรรมการผู้จัดการ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ(EARTH) เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า บริษัทได้ปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นและการบริหารงานด้วยการดึงผู้บริหารมืออาชีพจากต่างประเทศเข้ามาร่วมงาน เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการดำเนินงานตามแผนธุรกิจ 5 ปี ที่มีการตั้งเป้าหมายปริมาณขายถ่านหิน 20 ล้านตัน/ปี ที่มาจากเหมืองของเราเอง โดยคาดว่าจะต้องหาเหมืองเพิ่มอีก 5 เหมือง กำลังการผลิตแห่งละ 4 ล้านตัน/ปี ซึ่งไม่รวมเหมือง 2 แห่งที่บริษัทมีอยู่แล้วที่มีกำลังผลิตราว 2 ล้านตัน/ปี

"เราเตรียมตัวใน 5 ปีข้างหน้าแล้ว ตอนนี้มีการจัดทีมบริหารจัดการตั้งแต่ทีมกรรมการ ทีมผู้ถือหุ้น 2 ครอบครัวเราถือหุ้นใหญ่ 58-60% ได้แบ่งบทบาทหน้าที่ให้ทุกคนถือหุ้นในส่วนส่วนที่เท่ากัน ปี 56 จะเสริมทีมบริหารมืออาชีพต่างชาติทั้งหมด 5 คน เช่น สิงคโปร์จะเข้ามาดูแลเรื่องเรือ เพื่อลดต้นทุนบริหาร ดูความเสี่ยง ดูเรื่องเหมืองทั้งหมด 5 แปลงอีก 1 คน และดูแลเรื่องการขนระหว่างท่าเรือในอินโดฯทั้งหมด ดูแลท่าเรือที่จะมีการบด จัดควบคุมสต็อกทั้งหมด"นายขจรพงศ์ กล่าว

บริษัทคาดว่าจะสรุปการเจรจาซื้อเหมืองถ่านหินแห่งใหม่ได้เพิ่มเข้ามาปีละ 1-2 เหมือง ซึ่งนอกจากเหมืองในประเทศอินโดนีเซียแล้ว บริษัทยังมองไปยังประเทศอื่น ๆ ด้วยเพื่อเป็นการกระจายการลงทุนลดความเสี่ยงทางธุรกิจ ซึ่งขณะนี้ได้ตั้งทีมงานเข้าไปศึกษาข้อมูลที่ประเทศปาปัวกินี ซึ่งเป็นแหล่งที่ยังไม่เจริญมากนัก ส่วนเหมืองที่มีอยู่แล้วและมีราคาแพงอย่างออสเตรเลีย คงจะยังไม่เข้าไปตอนนี้

สำหรับเม็ดเงินลงทุนที่จะซื้อเหมืองอีก 5 แห่งนั้น คงต้องรอสรุปารเจรจาซื้อเหมืองแห่งที่ 3 ก่อนว่าต้องใช้เงินเท่าไร เพราะปริมาณสำรองใกล้เคียงกัน โดยจะซื้อเพิ่มปริมาณสำรองที่ 40 ล้านตัน จากกำลังผลิต 4 ล้านตัน/ปีและสามารถขุดได้ราว 10 ปี ตอนนี้ได้ส่งทีมงานเข้าไปทำการเจาะสำรวจ คาดว่าปีนี้จะเร่งสรุปให้จบได้ เพราะปี 56 มีแผนจะจัดส่งถ่านหินให้กับลูกค้าอินเดีย 8.5 ล้านตันตามทีทำสัญญา เริ่มส่งมอบเดือน พ.ย.56 เป็นเวลา 3 ปี

นายขจรพงศ์ กล่าวว่า บริษัทยังคงเป้าหมายปริมาณขายถ่านหินที่ 3.2 ล้านตันในปี 55 ซึ่งเพิ่มขึ้น 70% จากปีก่อนที่มีปริมาณขายราว 1.9 ล้านตัน และรายได้ในปีนี้น่าจะเติบโตมาที่ 8 พันล้านบาท จาก 4.7 พันล้านบาทปีก่อน ถึงแม้ราคาถ่านหินในตลาดโลกที่ปรับลดลงตามต้นทุนผลิตหลักคือน้ำมัน แต่เชื่อว่าหากราคาน้ำมันดีดกลับราคาถ่านหินก็จะดีดตัวตามไปในทิศทางเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ราคาขายถ่านหินในขณะนี้ยังไม่ได้กระทบกับบริษัทมากนัก เพราะส่วนใหญ่เป็นการส่งมอบให้กับลูกค้าตามที่ได้ทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ภาพรวมทั้งปีน่าจะเป็นไปตามเป้าหมาย โดยไตรมาส 1/55 ราคาขายอยู่ที่ 65-70 เหรียญฯ/ตัน ส่วนไตรมาส 2/55 ลดลงเล็กน้อย แต่ไม่เป็นสาระสำคัญมากนัก เพราะบริษัทเน้นการขายถ่านหินราคาต่ำอยู่แล้ว

ขณะที่ครึ่งปีหลังนั้น มองว่าช่วงไตรมาส 3/55 อาจยังทรงๆ ไม่ลดลงจากไตรมาส 2/55 มากนัก แต่ไตรมาส 4/55 ราคาขายถ่านหินน่าจะดีดกลับตามต้นทุนน้ำมันที่ดีดตัวขึ้นมาบ้างแล้ว โดยรวมทั้งปีนี้ราคาขายเฉลี่ยน่าจะเป็นไปตามประมาณการที่ 65-70 เหรียญฯ/ตัน ไม่ได้ลดลงถึงขนาดจะเป็นนัยสำคัญต่อผลประกอบการ

ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าไตรมาส 2/55 กำไรของบริษัทจะปรับดีขึ้นตามลำดับจากไตรมาส 1/55 เนื่องจากช่วงไตรมาส 2/55 บริษัทมีผลผลิตถ่านหินที่ออกจากเหมืองเราเองมาขายมากกว่าไตรมาส 1 ที่ผ่านมา โดยไตรมาส 1 ปริมาณขายราว 9 แสนตัน (ทั้งขุดเองและเทรดดิ้ง)

"กำไรปีนี้มั่นใจสูงกว่าปีก่อนเพราะปีก่อนเทรดดิ้ง 100% อัตรากำไรขั้นต้น 15-20% แต่ปีนี้มีถ่านที่ออกจากเหมืองอินโดฯ มาร์จินจะ 30-40% ด้วย"นายขจรพงศ์ กล่าว

นายขจรพงศ์ กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าปริมาณขายเพิ่มเป็น 4 ล้านตันในปี 56 แต่คงจะมีการสรุปอีกครั้งในช่วงปลายปีนี้ว่าผลผลิตจากเหมืองของบริษัทเท่าใด ที่เหลือเป็นการซื้อจากเหมืองอื่นเท่าใด แต่หากเป็นผลผลิตของบริษัททั้ง 100% ก็อาจจะไมต้องซื้อจากแหล่งอื่นเข้ามา โดยในปีนี้เป็นผลผลิตจากเหมืองของบริษัท 2 ล้านตัน และซื้อจากแหล่งอื่น 1.2 ล้านตัน

"Maximum capacity ของเรา 4 ล้านตันต่อปีต่อเหมืองแต่เราไม่สามารถจะทำได้ตั้งแต่ปีแรก ซึ่งปัจจุบันเรามีอยู่ 2 แปลงรวมกัน 7.4 ล้านตัน เป็นเหมืองขนาดเล็ก ขุดจริงๆ แค่ 2-3 ปีก็หมด จึงต้องหาแปลงที่ใหญ่กว่า"นายขจรพงศ์ กล่าว

นายขจรพงศ์ กล่าวว่า จากนี้ไปบริษัทจะหาเหมืองขนาดปริมาณสำรองที่ 40 ล้านตันบวกลบ ถือเป็นเหมืองขนาดใหญ่เหมืองแปลงที่ 3 ที่จะสรุปนี้ ส่วนจะใช้เงินลงทุนเข้าซื้อเท่าใดนั้น คงต้องรอดูปริมาณสำรองจากนั้นจึงจะทราบจำนวนวงเงิน โดยขณะนี้ได้แต่งตั้งบริษัทเคพีเอ็มจี เป็นที่ปรึกษาทางการเงินสำหรับดูโครงสร้างเงินทุนและการระดมทุนไว้เรียบร้อยแล้ว จะอยู่ภายใต้เงื่อนไข 3 ข้อ คือ ไม่เกิด dilution effect ,คุม D/E ตามนโยบายที่ไม่เกิน 2 เท่า และ ต้องสามารถเริ่มผลิตได้ภายใต้ 1 ปี

ส่วนการจ่ายเงินปันผลนั้น ขณะนี้บริษัทยังมีส่วนต่ำมูลค่าหุ้นอยู่ 800-1,000 ล้านบาท ซึ่งต้องรอการใช้สิทธิใบสำคัญแสดงสิทธิที่กำหนดไว้ปี 2 ครั้งก่อน หรือนำกำไรของปีนี้มาดำเนินการหลังล้างขาดทุนสะสมหมดแล้ว หากกำไรปีนี้บวกขึ้นมาเกินราว 800-1,000 ล้านบาทก็สามารถนำส่วนเกินมาจัดสรรจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้นได้ ดังนั้นต้องรอลุ้นผลประกอบการทั้งปีนี้ก่อน

อนึ่ง ไตรมาส 1/55 บริษัทมีกำไร 262 ล้านบาท ส่วนไตรมาส 2/55 คาดว่ากำไรจะดีขึ้นตามลำดับ เพราะมีผลผลิตถ่านหินออกจากเหมืองของบริษัทอย่างต่อเนื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ