บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันของ บมจ. ควอลิตี้ เฮ้าส์ (QH) ที่ระดับ “A-" ด้วยแนวโน้ม “Negative" หรือ “ลบ" โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงผลงานที่ยาวนานของบริษัทในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ตลอดจนสถานะที่แข็งแกร่งในตลาดบ้านจัดสรรระดับราคาปานกลางถึงสูง และรายได้ที่สม่ำเสมอจากค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์และเงินลงทุนในหลักทรัพย์
อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากลักษณะของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นวงจรขึ้นลง รวมถึงแรงกดดันจากราคาวัสดุก่อสร้างและค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้น และภาระหนี้ที่คาดว่าจะอยู่ในระดับสูงต่อไปในระยะปานกลาง
ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Negative" หรือ “ลบ" สะท้อนฐานะการเงินของบริษัทที่อ่อนแอลงจากผลกระทบของวิกฤตอุทกภัย
ทั้งนี้ แนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับเปลี่ยนเป็น “Stable" หรือ “คงที่" หากบริษัทสามารถลดอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนให้ต่ำกว่า 55% หรือรักษายอดขายที่ยังไม่ได้ส่งมอบให้อยู่ในระดับที่สามารถลดความเสี่ยงจากภาระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตอาจปรับลดลงหากอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนคาดว่าจะสูงกว่า 55% เป็นระยะเวลาที่ต่อเนื่องโดยไม่มีกระแสเงินสดในระดับที่เหมาะสมรองรับ
ทริสเรทติ้ง รายงานว่า บริษัทควอลิตี้ เฮ้าส์เป็นหนึ่งในผู้นำในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของไทยซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในตลาดบ้านจัดสรรระดับราคาปานกลางถึงสูง บริษัทก่อตั้งในปี 2526 โดย บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท ณ เดือนมิถุนายน 2555 ประกอบด้วยบริษัทแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (25%) และ The Government of Singapore Investment Corporation Pte. Ltd. (11%) บริษัทมีสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในตลาดที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะในตลาดบ้านเดี่ยวระดับราคาหลังละ 5 ล้านบาทขึ้นไป นอกจากนี้ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาบริษัทยังมี ผลการดำเนินงานในระดับที่ยอมรับได้โดยการพัฒนาสินค้าที่อยู่อาศัยที่สามารถแข่งขันได้ในตลาดกลุ่มราคาระดับล่าง
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ที่อยู่อาศัยเหลือขายในบริเวณที่เกิดอุทกภัย รวมทั้งพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปหลังอุทกภัยเป็นสิ่งท้าทายสำคัญที่ทำให้บริษัทควอลิตี้ เฮ้าส์ ต้องปรับแผนธุรกิจและฟื้นฟูความเชื่อมั่นของผู้บริโภค โครงการของบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตอุทกภัยคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 28% ของมูลค่าที่ดินและงานระหว่างก่อสร้าง ณ สิ้นปี 2554 โดยราคาขายเฉลี่ยของบ้านในโครงการที่ได้รับผลกระทบอยู่ที่ 8 ล้านบาทต่อหลัง ในช่วง 2 ไตรมาสแรกของปี 2555 ยอดขายจากโครงการที่ได้รับผลกระทบฟื้นตัวประมาณ 30% ของยอดขายปกติ ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าน่าจะมีกลุ่มลูกค้าที่ต้องการที่อยู่อาศัยระดับราคาปานกลางถึงสูงในสัดส่วนพอสมควรที่ยังไม่ตัดสินใจซื้อบ้านจนกว่าจะถึงสิ้นปี 2555 หากสถานการณ์ น้ำท่วมในปีนี้สามารถบริหารจัดการได้ ยอดขายในโครงการของบริษัทที่เคยถูกน้ำท่วมก็น่าจะสามารถปรับตัวสู่ระดับปกติได้ภายในปี 2556
ฐานะการเงินของบริษัทควอลิตี้ เฮ้าส์ในปี 2554 อ่อนแอลงอย่างเห็นได้ชัดจากอัตรากำไรที่ลดลงและภาระหนี้ที่สูงขึ้น ผลประกอบการของบริษัทคาดว่าจะฟื้นตัวช้ากว่าผู้ประกอบการรายอื่นที่ได้รับผลกระทบน้อยกว่าเนื่องจากบริษัทมีสัดส่วนรายได้จำนวนมากจากโครงการแนวราบและมีโครงการคอนโดมิเนียมที่คาดว่าจะโอนได้ในปี 2555 ไม่มากนัก โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2555 บริษัทมีมูลค่าโครงการคอนโดมิเนียมที่ยังไม่ได้ส่งมอบ (Backlog) อยู่ที่ 3.3 พันล้านบาท ทั้งนี้ ประมาณ 1.6 พันล้านบาทเป็นโครงการคอนโดมิเนียมที่คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและโอนได้ในปี 2555 ส่วนที่เหลือเป็นโครงการที่จะโอนในปี 2556
อัตรากำไรของบริษัทควอลิตี้ เฮ้าส์น่าจะยังคงได้รับแรงกดดันอย่างต่อเนื่องในระยะสั้นจากต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้น ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2555 บริษัทมีอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนอยู่ที่ 63.1% เพิ่มขึ้นจาก 52.4% ในปี 2553 ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าจะได้รับเงินสดประมาณ 2 พันล้านบาทในไตรมาสที่ 3 ของปี 2555 จากการจัดตั้งกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ตาม ภาระหนี้ของบริษัทก็คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องในระยะปานกลางจากการลงทุนเพื่อเปิดโครงการใหม่มูลค่าประมาณ 2 หมื่นล้านบาทต่อปี โดยโครงการคอนโดมิเนียมจะคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1 ใน 3 ของมูลค่ารวม ซึ่งโครงการคอนโดมิเนียมโดยปกติจะใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างประมาณ 2 ปี บริษัทมีสภาพคล่องที่อ่อนแอลงแต่ก็ยังอยู่ในระดับที่น่าพอใจ ทั้งนี้ สภาพคล่องของบริษัทได้รับแรงหนุนจากเงินลงทุนในหลักทรัพย์ด้วยมูลค่ายุติธรรมที่ 2.1 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2555
จากวิกฤตอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปลายปี 2554 ทำให้คาดว่ายอดขายที่อยู่อาศัยจะชะลอตัวลงโดยเฉพาะในทำเลที่เผชิญกับปัญหาน้ำท่วมอย่างหนัก ทั้งนี้ นโยบายสนับสนุนด้านภาษีและสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยปลอดดอกเบี้ยของรัฐบาลอาจไม่มีผลกระตุ้นความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยอย่างมีนัยสำคัญในช่วงไตรมาสต่อ ๆ ไปเนื่องจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคถดถอยลง นอกจากนี้ อุตสาหกรรมยังคงมีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ตลอดจนแรงกดดันด้านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นหากนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาลมีผลบังคับใช้ และภาระหนี้ของผู้ประกอบการที่คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไปอีกระยะหนึ่ง