TUF เชื่อ MWB ช่วยดันยอด H2, มองหาโอกาสขยายธุรกิจหลายภูมิภาคทั่วโลก

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday August 9, 2012 10:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหาร บมจ. ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ (TUF) เปิดเผยว่า แนวโน้มในครึ่งปีหลังมองว่า ขณะนี้สถานการณ์ยังคงปกติ การดำเนินธุรกิจทุกอย่างเป็นไปตามแผน ในฝั่งยุโรปบริษัท เอ็มดับบลิว แบรนด์ส ยอดขายมีการเติบโตและรักษามาร์จิ้นได้อย่างต่อเนื่อง

ส่วนความกังวลจากวิกฤตเศรษฐกิจในยุโรปนั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัท เนื่องจากธุรกิจของ TUF เป็นธุรกิจอาหาร และเป็นที่นิยมในการบริโภคทั่วไป แต่ในทางกลับกัน วิกฤตที่เกิดขึ้นจะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการขยายการลงทุนเพิ่มในฝั่งยุโรป

ส่วนในฝั่งอเมริกา ตลาดมีการแข่งขันค่อนข้างสูง แต่บริษัท ไทร-ยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ ยังทำผลงานได้ดีและทำมาร์จิ้นได้ดีเช่นกัน ขณะที่บริษัท ยูเอสเพ็ท นูทรีชั่น ซึ่งดำเนินธุรกิจอาหารแมวในอเมริกา แม้ว่าจะเป็นธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้น แต่แนวโน้มจะเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตดี

นอกจากธุรกิจในต่างประเทศแล้ว ปีนี้บริษัทมีแผนการทำตลาดเชิงรุกสำหรับตลาดในประเทศ ซึ่งล่าสุดได้ทำการรีแบรนด์ สำหรับแบรนด์ซีเล็ค และแบรนด์ฟิชโช เป็นการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ใหม่ทั้งหมด จากนี้ไปจะมีการทำการสื่อสารทางการตลาดอย่างเข้มข้น เพื่อสร้างการรับรู้ใหม่ในกลุ่มผู้บริโภค บริษัทยังจะนำทั้ง 2 แบรนด์นี้เข้าไปบุกตลาดอาหารกระป๋องและตลาดอาหารว่างในตลาดอาเซียน เนื่องจากวัฒนธรรมการบริโภคอาหารคล้ายคลึงกับประเทศไทย และบริษัทจะใช้โอกาสการเปิดเสรีอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้นสำหรับการขยายตลาดในภูมิภาคนี้ให้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันได้มีการเข้าศึกษาตลาดในประเทศพม่า เวียดนาม ลาว และกัมพูชาแล้ว

นายธีรพงศ์ ยังกล่าวต่อว่า การมองหาโอกาสในการขยายธุรกิจยังมีอยู่อีกในหลายภูมิภาค ซึ่งบริษัทยังมองหาตลาดใหม่อย่างต่อเนื่อง อาทิ ตลาดแอฟริกา ที่มีการเติบโตค่อนข้างสูงขณะนี้ รวมถึงตลาดอเมริกาใต้ และตลาดตะวันออกกลาง ก็เป็นตลาดที่น่าสนใจเช่นกัน ขณะเดียวกันในตลาดยุโรปเองก็ยังมีโอกาสอีกมาก เนื่องจากยุโรปมีทั้งหมด 27 ประเทศ และเรายังจะขยายไปยังประเทศที่อยู่นอกเขตยุโรปอีก เช่น รัสเซีย เป็นต้น เรามองตลาดทุกภูมิภาคทั่วโลก และเรามีความพร้อมในทุกๆ ด้านที่จะเข้าไป เพื่อสร้างการเติบโตของบริษัทอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

สำหรับภาพรวมผลการดำเนินงานช่วง 6 เดือนแรก ปี 55 นายธีรพงศ์ กล่าวว่า บริษัทมีกำไรสุทธิทั้งหมดเท่ากับ 2,469 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% เมื่อเทียบกับช่วง 6 เดือนแรกของปี 2554 ที่มีกำไรสุทธิเท่ากับ 2,044 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้นเท่ากับ 2.15 บาท

ขณะที่ยอดขายก็มีการเติบโตขึ้นเช่นเดียวกันโดยในรูปของเงินเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้น 7% จากยอดขาย 1,564 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2554 เป็นยอดขาย 1,674 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2555 ส่วนในรูปของเงินบาทนั้น มียอดขายเท่ากับ 52,062 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มียอดขายเท่ากับ 47,565 ล้านบาท

ส่วนผลการดำเนินงานไตรมาส 2 นั้น บริษัทยังคงทำกำไรสุทธิได้ดีต่อเนื่องถึง 1,402 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิเท่ากับ 1,284 ล้านบาท แต่เนื่องจากไตรมาสนี้มีเหตุการณ์พิเศษทางบัญชีเกิดขึ้นจากการกู้ยืมเงินเพื่อการเข้าซื้อกิจการของเอ็มดับบลิว แบรนด์ส เมื่อ 18 เดือนที่แล้ว ซึ่งถูกบันทึกไว้ประมาณ 400 ล้านบาทตามอายุเงินกู้ แต่เมื่อบริษัทได้นำเงินที่ได้จากการเพิ่มทุนในช่วงเดือน พ.ค. ที่ผ่านมาจำนวน 9,563 ล้านบาทมาชำระเงินกู้ ซึ่งตามมาตรฐานบัญชีต้องรับรู้ค่าใช้จ่ายส่วนที่เหลือของเงินกู้ทันที จึงต้องตัดจำหน่ายค่าใช้จ่ายส่วนนี้ในครั้งเดียวจากกำไรสุทธิ ทำให้กำไรสุทธิเหลือ 1,002 ล้านบาท

ทั้งนี้ หากไม่มีหักค่าใช้จ่ายนี้ ต้องถือว่ากำไรสุทธิ 1,402 ล้านบาทของไตรมาส 2 ปีนี้เป็นปีที่ดีที่สุด เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ของปีที่ผ่านๆ มานับตั้งแต่ดำเนินธุรกิจมา ขณะที่ยอดขายรูปเงินเหรียญสหรัฐในไตรมาส 2 เท่ากับ 852 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโต 4% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ของปีก่อนที่มียอดขายเท่ากับ 821 ล้านเหรียญสหรัฐ และมียอดขายในรูปของเงินบาทเท่ากับ 26,758 ล้านบาท เติบโตขึ้น 8%

เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ของปีก่อนที่มียอดขายเท่ากับ 24,860 ล้านบาท ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงไตรมาสนี้ โดยเฉพาะในเดือนพ.ค. มีความผันผวนมาก แต่ไม่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ บริษัทสามารถบริหารจัดการได้ โดยจะเห็นจากความสามารถในการรักษาอัตรากำไรขั้นต้นในไตรมาสนี้ยังอยู่ที่ระดับ 16.9% ขณะเดียวกันอัตรากำไรจากการดำเนินงานก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีที่ 8% จึงทำให้ไม่น่าเป็นกังวลสำหรับการดำเนินธุรกิจของบริษัท เนื่องจากทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับ Operation ยังดีอยู่

สัดส่วนรายได้ของบริษัทซึ่งแบ่งตามผลิตภัณฑ์หลัก 6 กลุ่มธุรกิจใน 6 เดือนแรกนี้ กลุ่มธุรกิจปลาทูน่า มีสัดส่วน 50% กลุ่มธุรกิจกุ้งและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกุ้ง 22% กลุ่มธุรกิจปลาซาร์ดีนและปลาแมคเคอเรล 6% กลุ่มธุรกิจปลาแซลมอน 5% กลุ่มธุรกิจอาหารแมว 7% และกลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มและผลิตภัณฑ์อื่นๆ 10% ขณะที่สัดส่วนรายได้ของบริษัทโดยแบ่งตามตลาดมีดังนี้ สหรัฐอเมริกา มีสัดส่วน 35% สหภาพยุโรป 32% ขายในประเทศ 10% ญี่ปุ่น 9% อัฟริกา 4% โอเชียเนีย 3% ตะวันออกกลาง 3% เอเชีย 2% แคนาดา 1% และอเมริกาใต้ 1%

จากภาพรวมผลการดำเนินงานครึ่งปีแรกทั้งหมด นายธีรพงศ์กล่าวว่า บริษัทยังมีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง แม้ว่าปัจจัยจากราคาวัตถุดิบปลาทูน่าที่สูงขึ้น อีกทั้งความผันผวนของค่าเงินบาทที่ยังมีอยู่ และความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจทั้งในยุโรปและอเมริกา แต่ด้วยโครงสร้างทางธุรกิจที่มีความแข็งแกร่ง ทำให้บริษัทสามารถทำผลงานได้ดี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ