นายธีรพันธุ์ จิตตาลาน กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ฟินันซ่า เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างการเสนอขายกองทุนเปิดฟินันซ่าตราสารหนี้พลัส โรล โอเวอร์ 3เดือน5 (FAM FIPR3M5) เปิดเสนอขายครั้งแรก(ไอพีโอ) ตั้งแต่ 9 — 20 สิงหาคม 2555 ด้วยประมาณการผลตอบแทนที่ 3.17% ต่อปี โดยสามารถลงทุนขั้นต่ำเพียง 2,000 บาท
FAM FIPR 3M5 เป็น specific fund หรือกองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ที่มีการกระจายการลงทุนน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐาน มีนโยบายที่จะลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งตราสารแห่งหนี้ที่มีความสามารถในการชำระดอกเบี้ยและเงินต้น โดยกองทุนจะพิจารณาลงทุนในตราสารแห่งหนี้ ตราสารทางการเงิน และ/หรือ เงินฝาก ของภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหรือผู้ออกตราสารอยู่ในอันดับที่สามารถลงทุนได้ (Investment Grade)
ในครั้งนี้เราจะลงทุนในเงินฝากธนาคารต่างประเทศ สกุลเงิน USD หรือ CNY กับธนาคาร BOC, Macao, ธนาคาร SCBT, Hong Kong (P-1) หรือเงินฝากสกุลเงิน AED ธนาคาร Abu Dhabi Commercial Bank, UAE (F1), ธนาคาร SCBT, UAE , Union National bank, UAE (P-1), ตั๋วเงินหรือเงินฝากธนาคารพาณิชย์ในประเทศ**, ตั๋วแลกเงิน บมจ. เอเซียเสริมกิจลีสซิ่ง (BBB+) หรือ บมจ. มั่นคงเคหะการ (BBB+), ตั๋วเงิน บมจ. ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) (BBB), ตราสารหนี้ของ บมจ.บัตรกรุงไทย (BBB+) หรือตราสารหนี้ภาคเอกชนที่มีอันดับความน่าเชื่อถือตั้งแต่ BBB+ขึ้นไป, ตั๋วเงินคลัง หรือ พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย
ทั้งนี้ จะเปิดให้มีการซื้อและขายคืนหน่วยลงทุน ทุก ๆ 3 เดือนโดยประมาณ นับตั้งแต่วันจดทะเบียนกองทรัพย์สินเป็นกองทุนรวม กองทุนนี้เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการลงทุนระยะสั้นในตราสารหนี้ภาครัฐและภาคเอกชนและ/หรือ เงินฝาก ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และมีโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินฝากธนาคาร ในระยะเวลานานประมาณ 3 เดือนสำหรับการลงทุนแต่ละรอบ กองทุนมีการลงทุนในต่างประเทศซึ่งเราจะทำการการป้องความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวน
นายธีรพันธ์ กล่าวอีกว่า มีแนวโน้มค่อนข้างสูงมากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่เหลือของปีนี้ เนื่องจากผลการประชุมล่าสุดของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ไม่เป็นเอกฉันท์ คือ เสียงส่วนใหญ่มองว่าให้คงอัตราดอกเบี้ยเพื่อเป็นกระสุนช่วยเศรษฐกิจในอนาคต ในขณะที่เสียงส่วนน้อยเห็นว่าควรลดดอกเบี้ยทันที ถ้าพิจารณาในภาพรวม กนง.เห็นตรงกันคือเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวจากปัญหาภายนอกประเทศ ต่างกันตรงจังหวะในการลดดอกเบี้ย แต่เชื่อว่า กนง.น่าจะลดดอกเบี้ยในการประชุมช่วงที่เหลือของปีนี้
การลงทุนในตราสารที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบัน กล่าวคือสูงกว่า 3 % ขึ้นไป จะสร้างผลตอบแทนที่ดีแก่ผู้ลงทุนเมื่อเปรียบเทียบกับแนวโน้มของดอกเบี้ยที่จะปรับลงในอนาคต