บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของ บมจ. พฤกษา เรียลเอสเตท (PS) เป็น “Stable" หรือ “คงที่" จาก “Negative" หรือ “ลบ" โดยทริสเรทติ้งยังคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดเดิมของบริษัทที่ระดับ “A" เช่นเดิม ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 5,000 ล้านบาทของบริษัทที่ระดับ “A" ด้วย โดยเงินจากการออกหุ้นกู้ดังกล่าวจะนำไปชำระคืนหนี้เงินกู้ระยะสั้น
อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะความเป็นผู้นำของบริษัทในตลาดทาวน์เฮ้าส์ระดับราคาปานกลางถึงต่ำ ตลอดจนผลงานที่เป็นที่ยอมรับในตลาดที่อยู่อาศัยระดับกลางถึงล่าง ความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุน และยอดขายรอการส่งมอบจำนวนมากที่ช่วยประกันรายได้ของบริษัทในอนาคต อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวลดทอนลงบางส่วนจากอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนที่ค่อนข้างสูง ต้นทุนค่าก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และลักษณะของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นวงจรขึ้นลง
ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิตปรับเป็น “Stable" หรือ “คงที่" จาก “Negative" หรือ “ลบ" สะท้อนถึงการฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ของบริษัทจากเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปีที่แล้ว ตลอดจนผลการดำเนินงานของบริษัทในครึ่งแรกของปี 2555 ที่ฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทริสเรทติ้งคาดหวังว่าบริษัทจะสามารถรักษาผลประกอบการที่แข็งแกร่งเอาไว้ได้ในระยะปานกลาง และหวังว่าบริษัทจะสามารถส่งมอบยอดขายที่รอการรับรู้รายได้จำนวนมากได้ตามแผน ซึ่งจะทำให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนลดลงและเสริมฐานะทางการเงินของบริษัทให้แข็งแกร่งขึ้นได้ในระยะสั้นถึงปานกลาง
ทริสเรทติ้ง รายงานว่า PS เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการพัฒนาที่อยู่อาศัยชั้นนำของประเทศซึ่งก่อตั้งในปี 2536 โดยนายทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในเดือนธันวาคม 2548 ณ เดือนมีนาคม 2555 กลุ่มตระกูลวิจิตรพงศ์พันธุ์ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทในสัดส่วน 74% ของหุ้นทั้งหมด บริษัทมีโครงการที่อยู่อาศัยระหว่างการพัฒนาอยู่เป็นจำนวนมากถึง 163 โครงการ ณ เดือนมิถุนายน 2555 โครงการที่อยู่อาศัยของบริษัทประกอบด้วยทาวน์เฮ้าส์ซึ่งคิดเป็น 41% ของมูลค่าโครงการทั้งหมด บ้านเดี่ยว (33%) คอนโดมิเนียม (25%) และโครงการในต่างประเทศ (1%) โดยที่อยู่อาศัยของบริษัทมีราคาขายเฉลี่ย 2.3 ล้านบาทต่อยูนิต ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2555 โครงการของบริษัทมีมูลค่าเหลือขายรวมทั้งสิ้นประมาณ 56,000 ล้านบาท และมียอดขายที่รอรับรู้รายได้ประมาณ 34,000 ล้านบาท
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ข้อได้เปรียบในการแข่งขันของ PS มาจากการใช้เทคโนโลยีชิ้นส่วนคอนกรีตเสริมเหล็กสำเร็จรูปและการบริหารจัดการงานก่อสร้างโครงการทาวน์เฮ้าส์และบ้านเดี่ยวโดยบริษัทเอง ทั้งนี้ ปริมาณการผลิตชิ้นส่วนคอนกรีตเสริมเหล็กสำเร็จรูปจำนวนมากช่วยให้บริษัทสามารถควบคุมต้นทุนและลดระยะเวลาการก่อสร้างลงได้ จึงมีผลทำให้บริษัทสามารถกำหนดราคาขายที่ได้เปรียบคู่แข่ง
ยอดขายของ PS ปลายปี 2554 ได้รับผลกระทบจากวิกฤตอุทกภัยในหลายพื้นที่รอบกรุงเทพฯ ยอดขายของบริษัทอยู่ที่ประมาณ 7,000-9,000 ล้านบาทต่อไตรมาสในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 ก่อนที่จะลดลงเหลือเพียง 235 ล้านบาทในไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 ดังนั้น ยอดขายทั้งปี 2554 จึงลดลง 34% เป็น 25,554 ล้านบาท จาก 38,753 ล้านบาทในปี 2553 ยอดขายของบริษัทฟื้นตัวเป็น 5,669 ล้านบาท และ 7,019 ล้านบาทในไตรมาสแรกและไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 ดังนั้น ยอดขายในช่วงครึ่งแรกของปี 2555 จึงเท่ากับ 12,688 ล้านบาท (หรือคิดเป็น 50% ของยอดขายในปี 2554) ลดลง 28% จากช่วงเดียวกันของปี 2554 ในไตรมาสแรกและไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 ยอดขายของโครงการแนวราบในเขตน้ำท่วมฟื้นตัว 28% และ 56% ของยอดขายในไตรมาสแรกและไตรมาสที่ 2 ของปีที่แล้ว การฟื้นตัวของยอดขายและแผนการเปิดโครงการใหม่ในช่วงครึ่งหลังของปี 2555 คาดว่าจะทำให้ยอดขายของทั้งปี 2555 ยังคงน่าพอใจ
แม้ว่าวิกฤตอุทกภัยจะกระทบต่อยอดขายของบริษัท แต่บริษัทก็ยังคงสามารถบริหารการโอนที่อยู่อาศัยได้อย่างน่าพอใจ รายได้ของบริษัทในปี 2554 เท่ากับ 23,263 ล้านบาท เกือบเท่ากับระดับสูงสุดที่ 23,307 ล้านบาทในปี 2553 รายได้ในครึ่งแรกของปี 2555 ลดลงเพียง 6% เป็น 11,469 ล้านบาท ซึ่งเกือบ 90% ของรายได้รวมมาจากโครงการที่อยู่อาศัยในแนวราบ อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทลดลงเป็น 35% ของรายได้ในครึ่งแรกของปี 2555 จาก 37% ในปี 2554 และ 38% ในช่วงปี 2551-2553 เนื่องมาจากต้นทุนค่าที่ดินและค่าก่อสร้างที่เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารของบริษัทลดลงเหลือ 16%-ของรายได้ใน 6 เดือนแรกของปี 2555 จาก 20% ในปี 2554 ดังนั้น อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อยอดขายจึงเพิ่มขึ้นเป็น 20.11% ในครึ่งปีแรกของปี 2555 จาก 18.16% ในปี 2554
ทั้งนี้ การขยายธุรกิจเชิงรุกและการซื้อที่ดินจำนวนมากในปี 2553 ทำให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนสูงขึ้น โดยอัตราส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 49.03% ในปี 2553 และ 54.92% ในปี 2554 จาก 15.84% ในปี 2552 ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2555 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทลดลงเล็กน้อยเป็น 52.03% ความสามารถในการทำกำไรที่ลดลงและภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นมีผลให้กระแสเงินสดของบริษัทอ่อนลง โดยอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมลดลงเป็น 13.55% ในปี 2554 และ 7.52% (ยังไม่ได้ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปี) ใน 6 เดือนแรกของปี 2555 จาก 22.13% ในปี 2553