TTA ประเมินความคุ้มค่าใช้ประโยชน์ UMS หรือขายออกกลางปีนี้/คาดงวดปี 56 ฟื้น

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday August 15, 2012 11:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ม.ล. จันทรจุฑา จันทรทัต กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทรีเซนไทย เอเยนตซีส์(TTA)กล่าวว่า จากที่การดำเนินธุรกิจของ บมจ.ยูนิค ไมนิ่ง เซอร์วิสเซส (UMS)ซึ่งเป็นบริษัทย่อย เป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลให้บริษัทขาดทุนในงวดไตรมาส 3/55 (เม.ย.-มิ.ย.55) สูงถึงกว่า 2.3 พันล้านบาท และยังมีความเสี่ยงที่อาจทำให้โรงงานในจังหวดสมุทรสาครของ UMS จะไม่สามารถกลับมาเปิดทำการได้ถาวระอีกครั้ง บริษัทอยู่ระหว่างประเมินความคุ้มของกิจการ UMS ช่วงกลางปีนี้

"คณะกรรมการบริษัทฯ จึงขอประเมินมุลค่ายุติธรรมการลงทุนตอนกลางปี ซึ่งตามมาตรฐานการบัญชีไดร้ บุว่ามูลค่าความนิยมจะไม่เกินกว่ามุลค่า recoverable amount ของการลงทุน มูลค่าการใช้ประโยชน์ หรือมูลค่าจำหน่ายออก แล้วแต่ว่ามูลค่าใดจะสูงกว่า และการที่บริษัทฯ ให้ความสำคัญต่อการกำกับดูแลกิจการที่ดี ความโปร่งใส และการรายงานทางการเงินที่ระมัดระวัง"ม.ล.จันทรจุฑา กล่าว

คณะกรรมการบริษัทฯ จึงได้ให้คณะผู้บริหารประเมินสมมติฐานในการปฏิบัติงานในอนาคตข้างหน้าในรูปแบบต่างๆ เพื่อคำนวณหามูลค่าการใช้ประโยชน์ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของ UMS หากมีสถานการณ์ภายนอกมากระทบและทำให้ UMS ไม่สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมาย ซึ่งจากการประเมินสมมติฐานต่างๆ ในอนาคตข้างหน้าทำให้สามารถคาดการณ์ได้ว่ามูลค่าการใช้ประโยชน์ของ UMS จะลดลงอย่างเป็นสาระสำคัญและการด้อยค่าความนิยมจำนวน 2.32 พันล้านบาทจึงถูกรับรู้ในงบกำไรขาดทุนในไตรมาสที่ 3 นี้

อนึ่ง TTA และบริษัทย่อย ไตรมาส 3/55 ขาดทุนสุทธิ 2.35 พันล้านบาท ขาดทุนสุทธิต่อหุ้น 3.32 บาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 331.53 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.47 บาท

สาเหตุหลักของการขาดทุนในไตรมาส 3/55 นี้ เป็นผลมาจากการบันทึกการด้อยค่าความนิยมทางบัญชี จำนวน 2,319 ล้านบาทของการลงทุนใน UMS ซึ่งเป็นผลจากการประเมินสถานการณ์ต่างๆ ที่ส่งผลกระทบในเชิงลบต่อกิจการของ UMS อย่างเป็นสาระสำคัญในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ตามคำสั่งของคณะกรรมการบริษัท

ในไตรมาส 3/55 UMS ขายถ่านหินไปทั้งสิ้นประมาณ 430,000 ตัน ซึ่งเป็นจำนวนที่ใกล้เคียงกับการขายในไตรมาสที่ผ่านมา เพียงแต่สัดส่วนของการขายถ่านหินขนาด 0-5 มม.นั้นสูงกว่าอยู่ที่ 50% ของจำนวนถ่านหินที่ขายไปทั้งหมด เป็นความพยายามที่จะเร่งระบายถ่านหินเพื่อให้โรงงานสมุทรสาครกลับมาเปิดได้อีกครั้ง โดยมีการขนถ่านหินขนาด 0-5 มม.จำนวน 126,000 ตันขึ้นรถบรรทุกออกจากโรงงานสมุทรสาครไปส่งให้กับลูกค้าโรงงานปูนในสระบุรี

แม้ว่าปริมาณการขายนี้มากกว่าไตรมาสที่ผ่านมาถึง 1.4 เท่า แต่ถ่านหินขนาด 0-5 มม.มีราคาขายที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับการขายถ่านหินคัดขนาดใหญ่ ประกอบกับเป็นช่วงของราคาถ่านหินทั่วโลกตกต่ำ จึงเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้กำไรเบื้องต้นลดลงในไตรมาสนี้ ซึ่งเมื่อรวมเข้ากับต้นทุนค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้นที่บันทึกไว้ในรายการค่าใช้จ่าย SG&A จึงเป็นผลทำให้ UMS มีผลขาดทุนจากการดำเนินงานก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA losses) จำนวน 54 ล้านบาทในไตรมาสนี้

อย่างไรก็ตาม คณะทำงานซึ่งประกอบไปด้วยทั้งผู้บริหารจาก TTA และ UMS กำลังทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับคณะกรรมการบริษัทฯ ในการเจรจาหาหนทางร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครในการทำให้โรงงานสมุทรสาครกลับมาเปิดอีกครั้ง แต่ก็ยังมีปัจจัยความเสี่ยงอื่นๆ ที่อาจจะทำให้โรงงานที่สมุทรสาครไม่สามารถกลับมาเปิดได้อย่างถาวรอีกครั้ง ถึงแม้ว่า UMS จะได้ปฏิบัติตามเงื่อนไข 3 ประการที่ทางราชการกำหนดไว้แล้ว

ดังนั้น คณะผู้บริหารของ UMS จึงได้เร่งหาทางเลือกอื่นๆ สำหรับปรับปรุงให้ผลการดำเนินงานของ UMS กลับมาดีขึ้นอีกครั้ง หากมีเหตุให้ต้องชะลอการเปิดโรงงานลงไปอีก ประกอบไปด้วย การหาโรงงานผลิตแห่งที่ 3 การทำท่าเรือแบบลอยตัว การนำเข้าถ่านหินจากเหมืองโดยตรง (Run-Of-Mine) และอื่นๆ ซึ่งทางเลือกทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ก็เพื่อให้ UMS สามารถมีผลกำไรที่คงที่ และดังนั้นเมื่อโรงงานที่สมุทรสาครกลับมาเปิดได้อีกครั้ง หรือสามารถลงมือทำตามทางเลือกที่ได้กล่าวไว้แล้ว จะทำให้ UMS กลับมาสร้างผลกำไรคืนกลับมาได้อย่างเร็วที่สุด

ทั้งนี้ บริษัทฯ หวังว่าผลประกอบการในรอบปีบัญชี 2556 จะดีกว่ารอบปีบัญชีนี้ เนื่องจากบริษัทฯ ได้รับรู้รายการที่สร้างผลลบให้กับผลประกอบการของบริษัทฯ ไปหมดแล้ว ในรอบปีบัญชีนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ