ม.ล.จันทรจุฑา จันทรทัต กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทรีเซนไทย เอเยนตซีส์(TTA) เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่างวดไตรมาส 4/55 (ก.ค.-ก.ย.55) จะสามารถประกาศผลกำไรสุทธิได้ เนื่องจากธุรกิจขนส่งและธุรกิจในกลุ่มของเรือขุดเจาะอยู่ในช่วงไฮซีซั่นจึงเชื่อว่าจะทำรายได้ที่ดีอย่างต่อเนื่อง แต่ทั้งปีนี้ยังมีผลขาดทุนสุทธิเนื่องจากไตรมาส 3/55 มีการบันทึกการด้อยค่าการลงทุนใน บมจ.ยูนิค ไมนิ่ง เซอร์วิสเซส(UMS)ราว 2.3 พันล้านบาท โดยประเมินว่า UMS จะยังมีผลขาดทุนต่อเนื่องไปจนไตรมาส 2/56
"ปี 55 ผมถือว่าเป็นปีที่ต่ำสุดของ TTA"ม.ล.จันทรจุฑา กล่าว
อย่างไรก็ตาม ทั้งปี 55 บริษัทเชื่อว่าจะมีกำไรจากการดำเนินงาน ซึ่งพลิกจากสถานการณ์ในปี 54 ที่มีผลขาดทุนจากการดำเนินงาน
ทั้งนี้ งวดไตรมาส 4/55 คาดว่าค่าระวางเรือจะทรงตัวที่ 1 หมื่นเหรียญ/วัน/ลำ ซึ่งเท่ากับระดับเฉลี่ยทั้งปี 55 และน่าจะทรงตัวในระดับนี้ถึงปี 56 โดยประเมินว่าในช่วง 12-24 เดือนข้างหน้าค่าระวางเรือจะยังไม่ฟื้นตัว เนื่องจากในตลาดเรือขนส่งสินค้ามีการส่งมอบเรือจำนวนมาก ทำให้ปริมาณเรือเกินกว่าความต้องการ สะท้อนจาก 6 เดือนแรกปี 55 จำนวนเรือในตลาดรวมเติบโต 15% แต่ความต้องการใช้เรือเติบโตไม่ถึง 7%
ส่วนการแก้ไขปัญหากิจการของ UMS นั้น หลังจากที่ปิดโรงงานและคลังเก็บถ่านหินที่สวนส้ม จ.สมุทรสาคร ตามคำสั่งของจังหวัดเป็นเวลา 1 ปีจากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้บริษัทได้จัดเตรียมแผนสำรอง 2-3 แนวทางเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว แนวทางแรก คือการเจรจากับทางจังหวัดเพื่อให้ UMS กลับมาเปิดโรงงานและคลังเก็บถ่านหินได้โดยเร็วที่สุด ขณะที่ทางจังหวัดได้กำหนดให้โรงงานถ่านหินที่ จ.สมุทรสาครเร่งระบายสต๊อกออกจากพื้นที่ภายในปลายเดือนก.พ. 56
แนวทางที่สอง หากไม่สามารถเปิดโรงงานที่จ.สมุทรสาครได้โดยเร็ว บริษัทก็อยู่ระหว่างหาพื้นที่ใหม่เพื่อสร้างโรงงาน และ แนวทางที่สาม คือ การนำเข้าถ่านหินและเข้าสู่ขบวนการผลิตและคัดแยกจากภายในเรือขนส่ง เพื่อส่งต่อให้ลูกค้าโดยไม่ต้องนำมาคัดแยกบนบก เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ข้างเคียงโรงงาน
ม.ล.จันทรจุฑา กล่าวว่า แนวทางแก้ไขปัญหา UMS คาดว่าจะมีความชัดเจนในการพิจารณาความเป็นไปได้ของแนวทางใดแนวทางหนึ่งภายในอีก 2-3 เดือนนี้
"โรงงานที่สวนส้มคงปิดยาก เพราะในพื้นที่นั้นมีบริษัทใหญ่ถึง 7 บริษัทซึ่งทุกคนพยายามเจรจาให้เปิดโรงงานให้ได้ ทั้งแบบเดี่ยวหรือรวมกลุ่ม มองว่าน่าจะมี solution...ไม่มี option ที่จะขายกิจการ UMS หรือปิดโรงงานที่สวนส้มตอนนี้" ม.ล.จันทรจุฑา กล่าว
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการบริษัท ยังไม่มีการพิจารณาจ่ายปันผลให้ผู้ถือหุ้น แม้ว่าปัจจุบันบริษัทมีจะกำไรสะสมอยู่ราว 1.8 หมื่นล้านบาท
สำหรับแผนดำเนินธุรกิจในปี 56 ม.ล.จันทรจุฑา กล่าวว่า ฝ่ายบริหารอยู่ระหว่างเตรียมนำเสนอคณะกรรมการบริษัทในเดือน ก.ย. โดยในภาพรวมธุรกิจด้านขนส่งจะมีการซื้อเรือเพิ่มจากปัจจุบันอยู่ที่ 22 ลำ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายในแผนงานของบริษัทจะมีกองเรือเพิ่มเป็น 24-30 ลำภายในปี 58 โดยจะเป็นเจ้าของเองและเช่า 50:50 ส่วนค่าระวางเรือปี 56 คาดว่าจะยังทรงตัวที่ 1 หมื่นเหรียญ/วัน/ลำ ต่อไป
ในส่วนบริษัท เมอร์เมด อยู่ระหว่างพิจารณาที่จะลงทุนเพื่อซื้อเรือขุดเจาะเพิ่มทดแทนเรือขุดเจาะเดิมที่เก่า ขณะเดียวกันพยายามมองหาสัญญาในระยะยาวมากขึ้นขณะที่ UMS คาดว่าจะมียอดขายเกิน 1 ล้านตัน
"จากแผนธุรกิจทั้งหมดบริษัทจะดำเนินการอย่างระมัดระวังแบบค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากพื้นฐานเศรษฐกิจยังอยู่ในช่วงชะลอตัว"ม.ล.จันทรจุฑา กล่าว