นายกิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.กสท โทรคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ กสท มีมติให้เดินหน้าฟ้องร้องต่อศาลปกครองกรณีที่คู่สัญญาสัมปทานทั้ง 3 ราย ประกอบด้วย บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น(DTAC) บริษัท ทรูมูฟ และ บริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด(ดีพีซี)ที่ไม่ดำเนินการโอนเสาสถานีฐานรวมกันกว่า 2 หมื่นสถานีฐานตามสัญญาสัมปทานแบบสร้าง โอน ให้บริการ (BTO)
ขณะนี้เรื่องดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนของอนุญาโตตุบาการ และมีอายุความ 5 ปี หากกสทฯ ไม่เร่งดำเนินการก่อนหมดระยะเวลาที่กำหนด กสท.จะไม่สามารถเรียกร้องทรัพย์สินคืนได้ในภายหลัง ดังนั้น จึงจะนำเรื่องนี้เข้าสู่กระบวนการศาลปกครองภายใน 1 หรือ 2 เดือนนี้ โดยทาง DTAC ทราบเรื่องแล้วและไม่ขัดข้องที่ กสท.จะฟ้องร้องแต่อย่างใด แต่ก่อนหน้านี้ DTAC ก็ได้โอนสถานีฐานให้กับกสท.มาโดยตลอด แต่เป็นเพราะเห็นว่าโอเปอเรเตอร์ 2 รายไม่ยอมโอน DTAC จึงได้ยุติการโอนไปด้วย
สำหรับเสาสถานีฐาน แบ่งเป็นดำเนินการโดย DTAC จำนวน 7,019 แห่ง ยังไม่ได้โอนให้ กสท. 5,942 แห่ง ดำเนินการโดยทรูมูฟ 6,814 แห่งยังไม่ได้โอนให้กสท.โดยอ้างว่าที่ตั้งเสาเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร และ ดีพีซี 3,523 แห่งยังไม่ได้โอนให้ กสท. 3,343 แห่ง เนื่องจากดีพีซีระบุว่าเป็นการเช่าใช้เสาจากบมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส(ADVANC) ซึ่งเป็นคู่สัมปทานของบมจ.ทีโอที
"ตัวเลขที่เอกชนรายงานก็ไม่ใช่ตัวเลขที่แท้จริง เพราะ DTAC ประกาศว่ามีสถานีฐานรวม 1.2 หมื่นแห่ง ทรูมูฟ มี 8,000 แห่ง ซึ่งการที่ไม่ยอมโอนและไม่ยอมให้ข้อมูลกับกสทฯ ทั้งหมด ก็ถือว่าไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขสัมปทาน ซึ่งสุดท้ายกสท.มีสิทธิยกเลิกสัญญาได้หากเอกชนยังปฏิบัติเช่นนี้"นายกิตติศักดิ์ กล่าว
พร้อมกันนั้น คณะกรรมการ กสท.ยังเห็นชอบจุดยืนในการคัดค้านร่างประกาศ กสทช. เรื่องการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประมูลใบอนุญาตให้บริการ (ไลเซ่นส์) 3จี บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz เพราะการเรียกคืนเสาสถานีฐานยังอยู่ในขั้นตอนการฟ้องร้อง และไม่มั่นใจว่าการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกันจะเกิดขึ้นได้จริง เนื่องจากเอกชนทุกรายจะต้องแข่งขันกันเพื่อขยายโครงข่ายมากกว่าที่จะเปิดให้คู่แข่งมาใช้ของตัวเอง ประกาศดังกล่าวจึงเป็นเรื่องผิวเผิน