ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษายกฟ้องในคดีที่นายสนธิญา สวัสดี แกนนำกลุ่มต่อต้านถ่านหินใน จ.สมุทรสาคร ยื่นฟ้องผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ฐานละเลยต่อหน้าที่ไม่ดำเนินการตรวจสอบสาเหตุการเน่าเสียของแม่น้ำท่าจีน และไม่ดำเนินการขั้นเด็ดขาดกับผู้ประกอบกิจการขนถ่ายถ่านหินที่ใช้เรือผิดประเภทหรือไม่ได้รับอนุญาต
พร้อมทั้งให้คำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาสิ้นสุดไป โดยเมื่อวันที่ 24 ส.ค.54 ศาลปกครองกลาง แผนกคดีสิ่งแวดล้อมมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวฯ โดยให้ผู้ว่าราชการ จ.สมุทรสาคร ดูแลไม่ให้มีการขนถ่ายถ่านหินครอบคลุมพื้นที่ทั้งจังหวัด
ทั้งนี้ ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า หลังจากนายสนธิญามีหนังสือถึงผู้ว่าราชการ จ.สมุทรสาคร เมื่อวันที่ 1 ก.พ.54 เพื่อขอให้ดำเนินการตรวจสอบสาเหตุการเน่าเสียของแม่น้ำท่าจีน และให้ดำเนินการขั้นเด็ดขาดกับผู้ประกอบกิจการขนถ่ายถ่านหินที่ใช้เรือผิดประเภทหรือไม่ได้รับอนุญาตนั้น ผู้ว่าราชการ จ.สมุทรสาคร ได้มีหนังสือลงวันที่ 2 ก.พ.54 แจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการแก้ไขปัญหาตามอำนาจหน้าที่แล้วรายงานผลให้ทราบภายในวันที่ 18 ก.พ.54
และก่อนหน้าที่ศาลจะมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวฯ ผู้ว่าราชการ จ.สมุทรสาคร ได้มีหนังสือด่วนที่สุดถึงรองผู้ว่าราชการ หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง และผู้ประกอบกิจการถ่านหินทุกราย ให้ระงับการดำเนินการเกี่ยวกับกิจการถ่านหินทุกกรณีตั้งแต่วันที่ 13 ก.ค.54 เป็นต้นไป หากฝ่าฝืนจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างจริงจัง,
รวมทั้งให้กรมเจ้าท่าจัดส่งเรือตรวจการณ์และเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังไม่ให้มีการแอบหรือลักลอบขนถ่ายถ่านหิน, ให้ส่วนราชการ สำนักงานเจ้าท่าสาขาสมุทรสาคร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องงดออกใบอนุญาตหรือต่อใบอนุญาตการประกอบกิจการถ่านหินทุกประเภท และแต่งตั้งคณะกรรมการร่วม(เบญจภาคี) ประกอบด้วยผู้แทนภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ประกอบการ ผู้แทนชุมชน และผู้แทนสื่อมวลชน ร่วมกันสำรวจและตรวจสอบสถานประกอบการเพื่อกำหนดขั้นตอน วิธีการ และระยะเวลาในการขนย้าย
อีกทั้งผลการตรวจพิสูจน์พบค่าสารอินทรีย์คาร์บอนทั้งหมด ณ จุดตรวจสอบ มีค่าอยู่ในช่วงพิสัยที่พบได้ในธรรมชาติของแหล่งรน้ำผิวดิน และค่าซัลเฟตที่ปนเปื้อนในแม่น้ำท่าจีน ณ จุดตรวจสอบ มีค่าต่ำกว่ามาตรฐานที่นำมาเปรียบเทียบ
"จากการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดี กรณีจึงถือไม่ได้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปกิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร" คำพิพากษาศาลปกครองกลาง ระบุ
ส่วนกรณีที่ขอให้ย้ายผู้ถูกฟ้องคดีออกนอกพื้นที่ภายใน 30 วันนั้น เห็นว่า การสั่งย้ายข้าราชการเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของผู้บังคับบัญชาในการคัดสรรหรือจัดหาบุคลากร เพื่อปฏิบัติงานในตำแหน่งที่ผู้บังคับบัญชาเห็นสมควร จึงต้องคำนึงถึงเหตุผล ความจำเป็น ความเหมาะสม และประโยชน์ของหน่วยงานเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นเรื่องการใช้ดุลพินิจของผู้บังคับบัญชาในการบริหารงานบุคคล ศาลไม่อ่จก้าวล่วงไปใช้อำนาจของฝ่ายบริหารได้